ชมเมืองเก่า เยี่ยมจวนผู้ว่าฯ อิ่ม 8 มื้อ เที่ยวเมืองรอง @ เมืองตรัง
เรื่อง / ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา
ยิ่งเป็นช่วงกรีนซีซั่นด้วยแล้ว การออกเที่ยวทะเลไม่ต้องพูดถึง หมดสิทธิ์ครับอันตรายมรสุมเข้า เทรนด์ใหม่ของการมาเที่ยวเมืองตรัง นั้นก็คือมาชมเมืองเก่า เยี่ยมจวนผู้ว่าฯ หาของกินอร่อยๆครับ ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล นั้นเป็นเรื่องรองไปแล้วในช่วงนี้ คนเมืองตรังเขากินกัน วันละ 8 มื้อ ตั้งแต่เช้ามืด จนถึงมืดอีกวัน โดยไม่ซำ้เมนูด้วย
กราบขอพรศาลเจ้าท่ามก๋งเยี่ย
มาเมืองตรังก็มากราบขอพรศาลเจ้าท่ามก๋งเยี่ย ก่อนเป็นสิ่งแรก มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า “ชาวจีนได้นำเอาขี้ธูปของศาลเจ้ายุวท่ามก๋งเยี่ย วัดเก้ามังกร มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ติดตัวลงเรือมาตั้งรกรากที่เมืองตรังด้วย” ก่อสร้างเป็นศาลเจ้าเมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นที่เคารพของคนเมืองตรังอย่างมาก
ใครมีปัญหาทุกข์ร้อนก็จะมาขอพรจากองค์ท่ามก๋งเยี่ย ขอพรแล้วปัญหาหมดไป ทุกข์กลายเป็นสุข ทุกคนก็จะมาจุดประทัดถวายเป็นพันๆนัด หรือบางคนก็จะนำหมูย่างเมืองตรังมาถวายเป็นตัวๆเลยก็มี
ตามหาภาพ Steer Art เมืองตรัง
เมืองตรังมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ผ่านยุคที่เจริญรุ่งเรือง ลุ่มๆดอนๆ มากว่า 200 ปี แต่ก็ยังรักษาสภาพความเป็นหัวเมืองแห่งการค้าขาย เอาไว้ได้อย่างมั่นคง และมีการพัฒนาเมืองให้ร่วมสมัยขึ้น ด้วยการก่อสร้างวงเวียนพยูนขึ้นมา เพื่อสื่อความหมายว่าเมืองตรังเป็นแห่งพยูน
นอกจากนี้ยังได้มีการเขียนภาพ Steer Art ไว้ตามผนังตึกต่างๆ 3 แห่ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวไปตามหา 3 ภาพ นั้น ไปเช็คอิน ไปถ่ายรูป แล้วแชร์ไปในโลกโซเซียลว่าฉันอยู่ที่เมืองตรังนะจ๊ะ ภาพที่ 1 เป็นต้นศรีตรังไม้ประจำจังหวัดตรัง
ภาพที่ 2 เป็นภาพถ้ำมรกต สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมทางทะเลแห่งหนึ่งของจังหวัดตรัง
ภาพที่ 3 เป็นภาพสวนยาง บอกถึงอาชีพทำสวนยางเป็นอาชีพดั่งเดิมของคนท้องถิ่น ของทั้ง 3 ภาพ เขียนขึ้นมาด้วยฝีมือศิลปินท้องถิ่นของเมืองตรังเมื่อปี พ.ศ. 2557 ตามหาภาพไปไม่ถูกไม่เป็นไรครับ ก็ให้รถหัวกบซึ่งเป็นสำหรับท่องเที่ยวชมเมืองเก่า พาไปครับ
เยี่ยมจวนผู้ว่าฯ 1 ใน 10 โบราณสถาน ของเมืองตรัง
นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เล่าให้ฟัง “ตอนที่ผมเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ จวนหลังนี้ชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก จึงเรียบซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เป็นเกียรติเป็นศรีกับจังหวัด เพราะจวนผู้ว่าแห่งนี้ได้รับการรับรองจากกรมศิลปกร ให้เป็น 1 ใน 10 โบราณสถาน ของเมืองตรัง
ภายในชั้น 2 เป็นห้องประทับแรมของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่เสร็จมาประทับแรม ณ จวนผู้ว่าฯหลังนี้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2502 ยิ่งทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมา
อยากจะเชิญชวนนักเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองตรัง ผ่านมาแถวนี้ก็แวะมาเยี่ยมชมจวนผู้ว่าฯหลังนี้ได้ตลอดเวลาไม่มีวันหยุด เปิดตั้งแต่ 07.00 น. – 20.00 น. ครับ”
รอดท้องมังกรที่ถ้ำเลเขากรอบ
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเที่ยวเมืองตรัง นั้นก็คือการมารอดท้องมังกรที่ถ้ำเลเขากรอบ เป็นถ้ำน้ำไหลผ่านถึงกันตั้งแต่ทางเข้ายันทางออก ใช้เวลานั่งเรือเข้าถ้ำในแต่ละรอบประมาณ 45 นาที
ภายในถ้ำมี 2 บรรยกาศให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส เรือผ่านเข้าถ้ำไปสักพักหนึ่ง ก็มาถึงเกาะ ให้ขึ้นมาชมหินงอกหินย้อยสวยงาม ซึ่งยังเป็นถ้ำเป็นอยู่ สังเกตจากยังมีน้ำหยดลงมาจากผนังถ้ำตลอดเวลา ส่วนของหินก็ยังงอกขึ้นเพิ่มขึ้นเหมือนกัน
ช่วงที่ 2 เป็นช่วงสำคัญคือการรอดท้องมังกร ตัวถ้ำที่เรือผ่านเข้าไปจะเริ่มแคบลง และมืดลงเรื่อยๆ จนมองเห็นแค่แว๊บๆแวมๆ จากไฟนำทางที่อยู่บนหัวของนายท้ายเรือ มองขึ้นไปบนเพดาน เห็นผนังถ้ำอยู่ห่างปลายจมูกไม่ถึงคืบ เป็นอย่างอยู่ประมาณ 15 นาที ทำให้รู้สึกอึดอัดมืดมนต์ แต่พอสักพักหนึ่งก็ค่อยเห็นแสงสว่าง อยู่ปลายอุโมงค์ถ้ำรู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่
มาเมืองตรังต้องอิ่มให้ครบ 8 มื้อ
ผอ.นันทวัน ศิริโภคพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานตรัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า “คนเมืองตรังเขากินกัน วันละ 8 มื้อ ตั้งแต่เช้ามืด จนถึงยามดึก โดยไม่ซำ้เมนูด้วย พูดให้ชัดเจนขึ้นมาหน่อย ไม่ได้หมายความคนเมืองตรังทุกคน ต้องกินให้ครบ 8 มื้อ ในแต่ละวัน แต่ประเพณีเขาเป็นมาอย่างนั้น คือมีอาหารให้กินวันละ 8 มื้อ ถ้าใครกินได้ครบ 8 มื้อ เขาก็มีให้กินครับ มาเมืองตรังทั้งที่ต้องอิ่มให้ครบทั้ง 8 มื้อ ค่ะ”
มื้อแรกของวันเริ่มต้นตั้งแต่หัวรุ่งเป็นเวลาใดนั้น จะกำหนดด้วยภาระกิจของแต่ละคน คนทำหมูย่างเป็นอาชีพก็น่าจะเริ่มมื้อที่ 1 ตั้งแต่ประมาณตี 3 ชาวสวนยางน่าเร่ิมมื้อแรกตอนตีสี่ตีห้า อาหารก็ง่ายๆ โกปี่กับปาตังโก๋
มื้อที่ 2 ตอนหัวรุ่ง มื้อนี้คนเมืองตรังให้ความสำคัญอย่างมากกับมื้อเช้า อาหารก็เป็นติ่มซำซิครับจะอะไรเสียอีก จัดมาเลยแบบไม่อั่นเมนูของติ่มซำ เลือกแล้วนำไปนึ่งให้สุกด้วยน้ำที่กำลังเดือดเสิร์ฟร้อนมาในเข่ง รับรองอร่อยทุกอย่าง ที่เมืองตรังมีร้านติ่มซำให้เลือกทานหลายร้าน ความอร่อยก็แตกต่างกันไปครับ แล้วแต่ใครจะชอบร้านไหน
มาถึงมื้อที่ 3 มื้อสายๆของวันก็นั่งจิบชากันครับ เครื่องเคียงก็ต้องเป็นเค้กเมืองตรังสิครับถึงจะเขากันดี ก็อีกนั้นแหละเค้กเมืองตรัง ก็มีให้เลือกหลายร้านอีกเหมือนกัน เพราะคนตรังชอบกินเค้กกับชามาก จึงต้องมีร้านเค้กเกิดขึ้นหลายร้าน ตามดีมาร์นที่เพิ่มขึ้น เอกลักษณ์ของเค้กเมืองตรัง ต้องมีรูอยู่ตรงกลางเหมือนกันทุกร้าน
มื้อที่ 4 รับประทานอาหารกลางวัน เป็นมื้อเอกของวันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ก็ต้องหมูย่างเมืองตรังเท่านั้น มีคนบอกว่า “ถ้ามาเมืองตรัง แล้วไม่ได้กินหมูย่างเมืองตรัง เหมือนกับไม่ได้มา” พูดเกินจริงไปหรือเปล่า แต่การที่จะได้กิน “หมูย่างโกเภา” เจ้าอร่อยที่อยู่ในตลาดเทศบาลเมืองตรัง นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าไปจองคิวก่อน จากนั้นก็ยืนรอจนกว่าจะถึงคิว แล้วก็หมดจริงๆ คนต่อจากผมไปอีกไม่กี่คิว ก็ไม่มีหมูย่างจะขายให้แล้ว
จริงอยู่หมูย่างเมืองตรังก็มีหลายร้าน แต่ละร้านก็มีสูตรที่แตกต่างกันไป ส่วนใครจะบอกว่าร้านไหนอร่อยก็ว่ากันไปครับ ส่วนตัวผมแล้วว่าร้านนี้อร่อยที่สุด ตั้งแต่เคยกินหมูย่างเมืองตรังมา (ไม่แน่อาจไปเจอร้านใหม่ที่ยังไม่เคยชิมอร่อยกว่าก็ได้) ตัดส่วนที่เป็นหนังบางๆ สีเหลืองไล่โทนไปจนถึงไหม้เกรียม ที่อยู่ติดกับเนื้อส่วนท้อง คลุกเคล้าเครื่องเทศแบบเข้มข้นจนเข้าเนื้อ แทบมองไม่เห็นชั้นของไขมันเลย เอาเข้าใส่ปาก สัมผัสได้ถึงความกรอบของหนัง นุ่มเนื้อหอมเครื่องเทศ รสหวานนำตามด้วยเค็ม กินแล้วหยุดไม่อยู่ มีเป็นกิโลก็หมดครับ
ด้วยความสงสัยทำไมถึงทำได้อร่อยขนาดนี้ ก็เลยตามไปดูกรรมวิธีการทำถึงบ้านที่ผลิตหมูย่างชื่อดังของเมืองตรัง เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า “สั่งซื้อหมูเป็นๆมาจากจังหวัดใกล้เคียง คัดขนาดให้ได้ตามต้องการ นำมาขังไว้ให้อาหารน้อยลงเพื่อลดไขมัน จากจึงนำไปชำแหละเอาเครื่องในออก เอาเครื่องเทศไปทาให้ทั่วทั้งตัว หมักไว้จนได้ที่นำไปตากให้แห้ง แล้วจึงนำไปย่างในเตาหลุมอีก 4 – 5 ชั่วโมง ต้องย่างจนหนังเหลืองกรอบเนื้อนุ่มหอมเครื่องเทศ พร้อมส่งขาย
เห็นการขั้นตอนการย่างหมู ไม่ส่งสัยแล้วมาทำไมถึงอร่อยขนาดนี้ เพราะแต่ละขั้นตอนกรรมวิธีการทำ ดูแลเอาใส่เป็นอย่างดี มีทั้งศาสตร์ และศิลป์ในการผลิต ไม่ผิดแล้วที่มีคนพูดไว้ว่า “ถ้าไม่ได้กินหมูย่างเมืองตรังถือว่ามาไม่ถึงเมืองตรัง
มื้อที่ 5 ภาคบ่ายต้องหาร้านกาแฟนั่งจิบชิวๆสักหน่อย คนเมืองตรังเขากินขนมเปียกับกาแฟ ขนมเปี๊ยก็มีหลายร้านอีกเช่นกัน ผมเลือกให้ขนมเปี๊ยซอย 9 เป็นขนมเปี๊ยสุดยอดของเมืองตรัง แป้งบางกรอบ ใส่มีให้เลือกหลายอย่าง ผมชอบไส้เผือกไข่เค็มมากที่สุด
มื้อที่ 6 ผมให้เป็นมื้อไฮไลท์ครับ มาตรังทั้งที่มื้อเย็นต้องทานอาหารทะเลครับ ที่ร้านปูม้า ปาร์ตี้ ซีฟู้ด ร้านเขามีเป้าหมายชัดเจน เมนูหมูเนื้อไก่ไม่มีขายครับ เป็นร้านที่ขายเฉพาะอาหารทะเลสดๆเท่านั้น ออเดิร์ฟด้วย ปลาทรายทอดกระเทียม ยำสาหร่ายพวงองุ่น ปลาทอดกระเทียม เมนูเป็นเอกต้องยกให้ปูนึ่งครับ สดจริงๆ ทั้งๆที่ร้านก็ไม่ได้อยู่ริมทะเล เคล็ดไม่ลับเจ้าร้านของบอกว่า “สั่งปูม้าเป็นๆจากเรือประมงพื้นบ้านมาส่งให้ใหม่สดทุกวัน”
มื้อที่ 7 ทานของคราวมาแล้วต้องตบหวานด้วยโรตีชาชักครับ ร้านชาชักที่เมืองตรังมีให้เลือกทานแทบทุกหัวถนน เลือกทานได้ตามใจชอบเลยครับ
แล้วก็มาถึงมื้อที่ 8 จนได้ รู้สึกนอนไม่ค่อยหลับ ต้องออกมาหาโจ้กรอบดึกทานก่อนนอนเสียหน่อย จะได้นอนหลับฝันดี
แวะซื้อสินค้า OTOP เป็นของฝากกับบ้าน
สินค้า OTOP ของจังหวัดตรังมีให้เลือกซื้อมากมายหลายแบบ แต่ที่เด่นๆก็มี พยูนที่ทำจากไม้หอมเทพทาโร ผ้าพื้นเมืองจากวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี มีผลิตภัณฑ์หลายอย่างให้เลือก ตั้งแต่ผ้าขาวม้า ผ้าสิ่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าผืน และอื่นอีกมาก
ตอนแรกที่ผมฟัง ผอ.นันทวัน ศิริโภคพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานตรัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ท่านเล่าให้ฟังก็ยังนึกไม่ออกว่า คนอะไรจะกินได้ถึงวันละ 8 มื้อ เขียนมาถึงตรงนี้แล้วเออจริง ครบ 8 มื้อ จริงๆด้วย มา ชมเมืองเก่า เยี่ยมจวนผู้ว่าฯ เที่ยวเมืองรอง @ เมืองตรัง ทั้งที่ต้องอิ่มให้ครบ 8 มื้อ ครับ