THEWAYNEWS > Business > มรภ.สวนสุนันทา จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง Digital Marketing พร้อมโชว์ความสำเร็จติดปีก SME สู่ตลาดออนไลน์กว่า 2,500 ร้านค้าในปี 2562

                มรภ.สวนสุนันทา จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง Digital Marketing พร้อมโชว์ความสำเร็จติดปีก SME สู่ตลาดออนไลน์กว่า 2,500 ร้านค้าในปี 2562

               มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดสัมมนาในหัวข้อ SME Online Success Case Sharing & Learning ให้กับ SME เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้พร้อมสำหรับแข่งขันในการตลาดออนไลน์ ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ปี 2562  ในฐานะหน่วยร่วมของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกรวม 28 จังหวัด เผยความสำเร็จโครงการฯ สามารถพัฒนาเตรียมความพร้อมผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพสินค้าและปรับปรุงเนื้อหาสินค้า 30,257 ผลิตภัณฑ์และผลักดันให้มีการเปิดร้านค้าออนไลน์ใหม่ 2,579 ร้านค้า

              อาจารย์ยงยุทธ เจริญรัตน์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิคส์ สำหรับ SMEs ปี 2562  เป็นโครงการ SME ONLINE ปีที่ 3  ซึ่งสสว.จับมือร่วมกับ 5 องค์กร ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศให้สามารถการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์

          เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและสร้างยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) เป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ เน้นการสร้างช่องทางการจำหน่ายผ่านทางตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น สำหรับโครงการ SME ONLINE ปีที่ 3  นี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Digital to Global โดยมีเป้าหมายในการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยพร้อมแข่งขันในตลาดออนไลน์สากล ผ่านe-Marketplace ชั้นนำทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค 

            “มรภ.สวนสุนันทา รับผิดชอบพื้นที่ดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก รวม 28 จังหวัด ดังนี้ 1)ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี 2)ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว”

              สำหรับการดำเนินโครงการฯประกอบด้วย การอบรมผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ในทุกมิติทั้งแบบ Online, Offline และ Workshop ฝึกปฏิบัติจริง ตั้งแต่การถ่ายภาพสินค้า การจัดทำเนื้อหาสินค้า การเปิดร้านค้าออนไลน์ การทำ Digital Marketing และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ทั้งนี้ โดยแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่มตามศักยภาพ พร้อมจัดกิจกรรมแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 

               กลุ่มที่ 1 กิจกรรมการส่งเสริมการค้าตลาดออนไลน์ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังไม่เปิดร้านค้าออนไลน์  ในการส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังไม่เปิดร้านค้าออนไลน์ มหาวิทยาลัยฯ จะมีวิธีการดำเนินการ 3 วิธี คือ

            (1) การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำตลาดออนไลน์ 

             (2) การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำสินค้าขึ้นขายบนตลาดออนไลน์ ผ่าน E-market place หรือ Socailcommerce ต่างๆ เช่น shopee , Lazada , Lnwshop ,  Beautynista , Facebook , Line , Instargram   เป็นต้น

             (3) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ประกอบการที่นำสินค้าขึ้น อาทิ การแจกคูปองส่วนลด  การจัดแคมเปญร่วมกับ e-marketplace 

การได้รับสิทธิในการใช้ฟีเจอร์/บริการพิเศษของ E-marketplace โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ฟรีค่าจัดส่ง โดยสนับสนุนค่าจัดส่งสินค้าให้กับร้านค้าในโครงการ

          กลุ่มที่ 2 การส่งเสริมการค้าตลาดออนไลน์ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีร้านค้าออนไลน์แล้ว ในการส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังไม่เปิดร้านค้าออนไลน์ มหาวิทยาลัยฯ จะมีวิธีการดำเนินการ 3 วิธี คือการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำตลาดออนไลน์ (หลักสูตร 2 วัน) โดยกำหนดเนื้อหาหลักสูตรออกตามแนวทางการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยจัดทำหลักสูตรการตลาดออนไลน์ (Digital Marketing) การเพิ่มศักยภาพด้านตลาดออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการ  การ upgrade เครื่องมือต่างๆ บนช่องทางการขาย เช่น การสร้าง persona เพื่อวิเคราะห์ลูกค้า การปรับปรุง Content ให้สวยงามและตรงกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาการใช้เทคนิคหรือเครื่องมือ Digital Marketing ขั้นสูง เช่น การยิงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

                การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ประกอบการที่นำสินค้าขึ้นขายบนตลาดออนไลน์ อาทิ การแจกคูปองส่วนลด  การจัดแคมเปญร่วมกับ e-marketplace การได้รับสิทธิในการใช้ฟีเจอร์/บริการพิเศษของ E-marketplace โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ฟรีค่าจัดส่ง โดยสนับสนุนค่าจัดส่งสินค้าให้กับร้านค้าในโครงการ

               กลุ่มที่ 3 การส่งเสริมการค้าตลาดออนไลน์ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการออนไลน์ที่มีศักยภาพสูง ดำเนินการวินิจฉัยเพื่อทราบปัญหาและความต้องการในการพัฒนาด้าน Digital Marketing ของผู้ประกอบการโดยการลงพื้นที่ Site Visit ณ ที่ตั้งของสถานประกอบการ จากนั้นรวบรมข้อมูลที่ได้ทั้งหมด และทำการสรุปผลเป็น “ข้อเสนอในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” โดยในข้อเสนอจะระบุถึงประเด็นหรือแนวทางในการพัฒนาด้าน Digital Marketing ของผู้ประกอบการทั้ง 30 ราย และมอบหมายให้ทีปรึกษาเข้าให้คำปรึกษาตามประเด็นปัญหาของกิจการ ๆ ละ 2-3 Man day 

              ส่วนความสำเร็จในการดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิคส์ สำหรับ SMEs ปี 2562  ในพื้นที่ความรับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก รวม 28 จังหวัด อาจารย์ยงยุทธ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสามารถเตรียมความพร้อมผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพสินค้าและปรับปรุงเนื้อหาสินค้าจำนวน 30,257 ผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการที่มีร้านออนไลน์แล้วเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดออนไลน์จำนวน 1,062 ราย การให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการทำกลยุทธ์การตลาดออนไลน์จำนวน 36 ราย และส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการที่ยังไม่เปิดร้านออนไลน์ โดยจัดอบรมให้ความรู้และสนับสนุนผู้ประกอบการให้เปิดร้านค้าออนไลน์ใหม่รวม 2,579 ร้านค้า นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นให้เกิดยอดขายแก่ผู้ประกอบการ  โดยสร้างยอดขายให้ผู้ประกอบการได้รวม 40 ล้านบาท

                  สำหรับการจัดสัมมนาในหัวข้อ SME Online Success Case Sharing & Learning ครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการนำร้านค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ภายหลังจากเข้าร่วมโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิคส์ สำหรับ SMEs ปี 2562  เพื่อแชร์ประสบการณ์ความสำเร็จดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้รับฟัง เพื่อพัฒนาศักยภาพไปสู่เป้าหมายของโครงการฯต่อไป