THEWAYNEWS > Travel > In bound > สธทท. นำ นทท. “ไหว้พระนั่ง กราบนอน ขอพรพระยืน ชมแสงสีสิงห์”

                   สธทท. นำ นทท. “ไหว้พระนั่ง กราบนอน ขอพรพระยืน ชมแสงสีสิงห์

                  เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา สำนักข่าวท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม

        สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสิงห์บุรี กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา บริษัท เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ จำกัด และสำนักข่าวท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรม ทดลองเที่ยว พา นักท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไหว้พระนั่ง กราบนอน ขอพรพระยืน ชมแสงสีสิงห์เยี่ยมชุมชนไทยพวนบางน้ำเชี่ยว ชุมชนลาวแง้ว ถวายสังฆทาน วัดไผ่ดำ ระลึกถึงชาวบ้านระจัน อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน ชิม ช้อป ที่ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน

           นายสานนท์ เพ็ญแสง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสิงห์บุรี กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายกันตพงศ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) และนางสาววิมลฤดี ฟักมณี รองผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานลพบุรี ร่วมต้อนรับ คณะนักท่องเที่ยว บัสทัวร์ทั่วไทย และคาราวานบิ๊กไบค์ FL-CLUB YAMAHA THAILAND รวมจำนวน 175 คน ในกิจกรรม ไหว้พระนั่ง กราบนอน ขอพรพระยืน ชมแสงสีสิงห์

      นายกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย กล่าวว่ากิจกรรมทดลองเที่ยวครั้งนี้ ต่อเนื่องมาจากที่ทาง สธทท. จัดสัมมนา เสริมศักยภาพคนท้องถิ่น ผลิกฟื้นท่องเที่ยวโดยชุมชน จังหวัดสิงห์บุรี ในหัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพ ท่องเที่ยวโดยชุมชน” โดยวิทยากรประสบการณ์สูงด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน จากสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย ให้การอบรม เพื่อให้คนในชุมชนทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมีระบบ และมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศหรือยัง เพราะที่ผ่านมาเคยรับแต่นักท่องเที่ยวแบบศึกษาดูงาน ไม่มีคาดหวังในการต้อนรับมากนัก

       มาคราวนี้เราพานักท่องเที่ยวมาทดลองเที่ยว มาโดยรถบัสทัวร์ทั่วไทย และคาราวานบิ๊กไบค์ แบบพักค้างคืน 2 วัน 1 คืน รวมทั้งหมด 175 คน ลงพื้นที่ ชุมชนไทยพวนบางน้ำเชี่ยว และชุมชนลาวแง้ว จากนั้นไป ถวายสังฆทาน เลี้ยงพระเพล และสามเณร ณ วัดกฤษณเวฬุพุทธาราม ไหว้พระนั่ง ที่วัดพิกุลทอง กราบนอนที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร ขอพรพระยืนที่วัดประโชติการาม ช่วงเย็นเข้างานชมแสงสีสิงห์ ณ มิวเซียมสิงห์บุรี ขากลับแวะชมที่อนุสาวรีย์บางระจัน และชิมช้อปที่ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน”

                 รับประทานอาหารเช้า ชุมชนไทยพวนบางน้ำเชี่ยว

        ชุมชนไทยพวนบางน้ำเชี่ยว แต่งชุดไทยพวนต้อนรับคณะนักท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย ด้วยอาหารเช้าแบบท้องถิ่นไทยพวน เครื่องดื่มร้อน ปลาร้าสับ-ผักพื้นบ้าน ต้มจืดหน่อไม้สดกระดูกซี่โครงหมู ผัดฉ่าลูกชิ้นปลากราย ผัดบวบใส่ไข่ ต้มจืดหมูสับ ของหวานเป็นขนมวง ขนมหม้อแกงถั่ว ณ บ้านนาย 100 รีสอร์ท เสร็จแล้วพาชมบ้านไทยพวนที่ยังหลงเหลือในชุมชนแค่ 1 หลัง เท่านั้น

                วัดกุฎีทอง สิงห์บุรี

       วัดกุฎีทอง เดิมชื่อ วัดโพไชย สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาโดนกระแสน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาพัดทำให้ตลิ่งพัง ตัวพระอุโบสถก็พังลงแม่น้ำไปด้วย ได้มีการบรูณะวัดขึ้นในสมัยรัชกาล ที่ 3 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น วัดกุฎีทอง

        ภายในวัดมี มณฑปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2443 โดยเจ้าอาวาสวัดอุตมพิชัย นำชาวบ้านสร้างขึ้น ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดมณฑป ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทโลหะจำลอง ซ้อนกันสี่รอยพระบาท

                 ถวายสังฆทาน และเลี้ยงพระเพล และสามเณร วัดกฤษณเวฬุพุทธาราม

         หลังจากนั้นไปถวายสังฆทาน และเลี้ยงพระเพล และสามเณร จำนวน 60 รูป ที่วัดกฤษณเวฬุพุทธาราม หรือวัดไผ่ดำ เพราะมีต้นไผ่ดำ ไผ่หายากขึ้นอยู่หลังวัด วัดกฤษณเวฬุพุทธาราม เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากมีเจดีย์เก่าทรงระฆังคว่ำ ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานชื่อวัดใหม่ว่า วัดกฤษณเวฬุพุทธาราม

        มีพระครูประพัฒนศีล สำราญ ขนฺติโก เป็นเจ้าอาวาส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายผ้าพระกฐิน เป็นประจำทุกปี และทรงสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตัก 25 นิ้ว พระราชทานนามพระพุทธรูปว่า พระพุทธรัตนมงคงสัมฤทธิ์ ประดิษฐาน ณ วิหารหลังใหม่

                  ชมรำฟ้อนต้อนรับ ชุมชนลาวแง้ว ตำบลทองเอน

         ช่วงบ่ายลงพื้นที่ชุมชน ลาวแง้ว ตำบลทองเอน เดิมชื่อ ลาวหลวง เพราะอพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยการต่อแพล่องข้ามโขงมาจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา แพไม้ไผ่เกิดแตกไปต่อไม่ได้ก็เลยลงหลักปักฐานอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน ต่อมาคนไทยมาเรียกว่า ลาวแง้ว เนื่องจากยังใช้ภาษาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอยู่ ฟังไม่รู้เรื่องได้ยินเสียงพูดแต่ แง้ว แง้ว เลยเรียกว่า ลาวแง้ว

       นายปัญญา บุญเรือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทองเอน และนายธรรมนูญ วิทยานนท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทองเอน ให้การต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว พร้อมการแสดงฟ้อน ลาวแง้ว ต้อนรับนักท่องเที่ยว นางฟ้อนนางรำ นุ่งสิ่นสีแดงเข้ม ตีนลายดอก สวมเสื้อผ้าฝ้ายสีขาวคอกลมแขนยาว ส้วมงอบ ชุดพื้นเมือง ลาวแง้ว สวยงาม  เสร็จแล้วอุดหนุนสินค้าของชุมชนที่นำมาออกบู๊ทขาย ที่ชุมชนลาวแง้วยังมีศาลาร้อยเสา และกุฏิร้อยปีให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมด้วย

                ไหว้พระนั่ง วัดพิกุลทอง พระอารามหลวง

        วัดพิกุลทอง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีประมาณ 16 กม.คนสิงห์บุรีเรียกว่า วัดหลวงพ่อ เป็นวัดจำพรรษาของหลวงพ่อแพ มีพระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ ปางประทานพร ขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ตรงข้ามกับ วัดพิกุลทอง นอกจากนี้ยังรูปปั้นหลวงพ่อแพ ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านข้างองค์พระพ่อใหญ่

        เมืองสิงห์บุรีมีวัดสมัยอยุธยาอยู่มากมาย นักท่องเที่ยวที่มาแล้วต้องมา ไหว้พระนั่ง กราบนอน ขอพรพระยืน กันทุกเพื่อความเป็นศิริมงคล ชาวเมืองสิงห์มีความเชื่อว่า ถ้ามาไหว้พระนั่งแล้ว จะมีเกิดความมั่นคงในชีวิต  

                   กราบพระนอน วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร

       พระนอนจักรสีห์เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ ปางไสยาสน์เทศนาปาฏิหาริย์ แก่อรินทราหูผู้เป็นยักษ์ เพื่อลดทิษฐิอรินทราหูที่ถือตนว่ามีร่างกายใหญ่กว่ามนุษย์  พระพุทธองค์ทรงเนรมิตร่างกายให้ใหญ่กว่ายักษ์ สันนิษฐานว่าสร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยา ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้สร้างวิหารครอบองค์พระ และสร้างพระอุโบสถ์ตั้งอยู่ด้านปลายเท้า

        ในครั้งนี้นักท่องเที่ยวโชคดี พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรกวี เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี เจ้าอาวาสวัดพระนอนจักรสีห์ วรวิหาร ท่านเมตตาออกมาสวดมนต์ให้พร รับการถวายปัจจัยจากนักท่องเที่ยวด้วยตัวของท่านเอง เชื่อกันว่าการได้มากราบขอพร พระนอนจักรสีห์ ที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร แล้วชีวิตจะสะดวกสบาย อายุยืนยาว

                ขอพรพระยืน พระสิน พระทรัพย์ วัดประโชติการาม

        วัดประโชติการาม อยู่ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรี ประมาณ 5 กม. เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองสิงห์บุรี เดิมชาวบ้านเรียนสั้นๆว่า วัดประชด สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่มีเรื่องเล่าว่า สิงหพาหุ มีพ่อเป็นสิงห์ แล้วเกิดความอับอายที่มีพ่อเป็นสัตว์เดรัจฉาน จึงฆ่าพ่อตัวเองเสีย ภายหลังสำนึกในความผิด จึงไปสร้าง พระนอนจักรสีห์ และ วัดสละบาป เพื่อเป็นการไถ่บาป แต่ก็ยังกลัวว่าบาปนั้นจะไม่เบาลง จึงได้มาสร้าง วัดประชด ขึ้นอีกแห่ง โดยสร้างพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ 2 องค์ ซ้อนกันอยู่ในวิหารเดียวกัน

         สร้างตามแบบคติความเชื่อในสมัยอยุธยา โดยมีวิหารตั้งอยู่ด้านหน้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แล้วสร้างพระอัฏฐารส อยู่ตรงกลาง ปิดท้ายด้วยตัวพระอุโบสถ หลวงพ่อสิน และ หลวงพ่อทรัพย์ เป็นพระพุทธรูปจัดอยู่ในกลุ่มพระอัฏฐารส คือพระยืนที่มีความสูงเกิน 18 ศอก หลวงพ่อสิน ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า และองค์เล็กกว่า พระทรัพย์ ที่ประดิษฐานอยู่ด้านหลังวิหาร นักท่องเที่ยวเชื่อกันว่า เมื่อมาขอพรกับ พระทรัพย์ พระสิน แล้วจะสมหวังทรัพย์สินเงินทองมากขึ้น

             ร่วมงาน แสง สี สิงห์ ศาลากลาง ..130

       งาน แสง สี สิงห์ ณ ศาลากลาง ร.ศ.130 จัดขึ้นหน้า มิวเซียมสิงห์บุรี หรือศาลากลาง ร.ศ.130 ไฮไลท์อยู่ที่ การประดับ Neon Light Art ไฟนีออนแสงสีเป็นรูปทรงต่างๆ ที่ตึกศาลากลาง ร.ศ.130 และที่โรงภาพยนต์เก่าเมืองสิงห์บุรี เมืองรามา ภายในงานมีการแสดงโชว์เกี่ยวกับประวัติชาวบ้านบางระจัน ของเด็กนักเรียนกว่าร้อยชีวิต วันละ 2 รอบ 18.00 น. และ 20.00 น.

 

       มื้อค่ำปล่อยอิสระให้นักท่องเที่ยว ร่วมงาน แสง สี สิงห์ ณ ศาลากลาง ร.ศ.130 แล้วเลือกทานอาหาร ช้อปสินค้า ที่มาออกบู๊ทในงานได้ตามอัธยาศัย เดินชม Street Art ที่มีอยู่ตลอดแนวเขื่อนถนนวิไลจิตต์ มีคนมาเดินเล่น วิ่งออกกำลังกาย มาชมงาน แสง สี สิงห์ ในช่วงเย็นกันคึกคัก

           ระลึกถึงชาวบ้านระจัน อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน

       เช้าวันใหม่รับประทานเช้าที่ โรงแรมไชยแสง วิลล่า แล้วมาที่ อุทยานวีรชนค่ายบางระจัน เข้ารับฟังการบรรยาย เรื่องราวชาวบ้านบางระจัน ที่สู้รบกับกองทัพพม่าถึง 8 ครั้ง จนนักรบบางระจันเสียชีวิตหมดทั้งค่าย ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วีรชนค่ายบางระจัน จากนั้นเดินไปเคารพถึงความกล้าหาญของนักรบบางระจัน ที่อนุสาวรีย์วีระชนค่ายบางระจัน

               ชิม ช้อป ที่ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน

         ปิดท้ายด้วยการแวะ ชิม ช้อป ที่ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน เป็นตลาดไทยย้อนยุคที่ดำริโดย พระครูวิชิตวุฒิคุณท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์เก้าต้น ที่ต้องการให้ชาวบ้านในพื้นได้มีอาชีพเสริม นำสินค้าพืชผลทางการเกษตร หรือทำอาหารถิ่นด้วยรสมือของคนท้องถิ่น จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ในวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตกฤษ์ แบบฟรีๆไม่เก็บค่าเช่าร้าน เป็นตลาดที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลาดแรกๆในประเทศไทย ใช้ภาชนะใส่อาหารที่รักษ์โลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

         ท่านเจ้าอาวาสยังให้ แม่ค้าพ่อค้าอนุรักษ์ความเป็นชาวบางระจันไว้อย่างครบครั้น ทั้งการแต่งกายแบบนักรบบ้านระจัน พูดตอบโต้กับลูกค้าด้วยภาษาพื้นถิ่น ภายในตลาดหน้าค่ายบางระจันจำลองมีแสดงของลูกหลานพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ให้ลูกค้าชมทุกๆชั่วโมง นักท่องเที่ยวสามรถถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กับนักรบบ้านระจันทั้งหญิงชาย ได้ตลอดเวลา

          สธทท. พา นทท. “ไหว้พระนั่ง กราบนอน ขอพรพระยืน ชมแสงสีสิงห์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 สิงหาคม 2566 จังหวัดสิงห์บุรี