THEWAYNEWS > Business > สภาท่องเที่ยวชี้พัทยาควรปรับภาพขาย ‘เซ็กซ์’ สู่ ‘ท่องเที่ยวเชิงกีฬา’

aHR0cHM6Ly9zLmlzYW5vb2suY29tL21uLzAvdWQvMTA5LzU0ODgxNy90aHVtYm5haWxwYXR0YXlhLmpwZw==

แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “พัทยา” คือเมืองแห่งเซ็กซ์อันดับต้น ๆ ของโลก ตามที่สื่อต่างชาติตั้งฉายาให้ มันอาจจะไม่หนีไปไกลจากความเป็นจริงสักเท่าไหร่ หากจะมองว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มุ่งสู่ดินแดนแห่งนี้ ต่างหวังถึง “Sex, Drug and Sea”

ปัญหาของพัทยาในเรื่องดังกล่าว ถือว่ามีมานาน จนกลายเป็นภาพที่อยู่คู่กับเมืองแห่งนี้ นับตั้งแต่อดีตของสนามบินอู่ตะเภา ที่กองทัพทหารอเมริกันสร้างไว้ใช้ทำสงครามในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในสงครามเวียดนาม เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2502 เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เหล่าจีไอจะใช้เมืองแห่งนี้เป็นที่พักผ่อน แน่นอนว่าธุรกิจซึ่งเฟื่องฟูในขณะนั้นหนีไม่พ้น ธุรกิจบันเทิง และค้าประเวณี กระทั่งปี 2520 ซึ่งเริ่มมีนักท่องเที่ยวยุโรปเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้เมืองพัทยาเจริญถึงขีดสุด ถึงกับได้รับการยกย่องให้เป็น “ริเวียร่าแห่งเอเชีย”

ขณะที่ปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการริเริ่มโครงการแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมี จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง อยู่ในจังหวัดเป้าหมาย แน่นอน พัทยา คือเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ในพื้นที่การพัฒนา ประเด็นการพัฒนาเมืองพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่ EEC นั้นได้รับการบรรจุอยู่ใน “แผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” โดยมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน ซึ่งมี พัทยา เป็นหนึ่งในสถานีระหว่างทาง ก่อนสถานีปลายทางอู่ตะเภา

แผนดังกล่าวมีรายละเอียดให้ จ.ชลบุรี เป็น “Modern of the East” ครบถ้วน หลากหลาย ทันสมัย มีชีวิตชีวา ชูความโดดเด่นของชายหาดบางแสน และ พัทยา ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว มุ่งเน้นการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ สุขภาพ และนันทนาการ โดยเปลี่ยนให้พัทยาคือ 1 ใน 5 MICE City ของประเทศไทย สร้างความทันสมัยแต่ไม่ทอดทิ้งความเป็นท้องถิ่น โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มครอบครัว และวัยทำงาน สลัดภาพลักษณ์ของ “เซ็กซ์ ซิตี้” ออกไป

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคเอกชน โดย ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มองว่า เมืองพัทยาเหมาะสมกับการสร้างเป็นเมืองแห่ง “สปอร์ต ทัวริสซึ่ม

“ด้วยศักยภาพของ EEC ที่มีระบบการคมนาคม เชื่อมโยงทั้ง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ผนวกกับพัทยาเป็นเมืองที่มีการจัดกิจกรรม อีเวนต์ต่าง ๆ ด้านกีฬาเป็นประจำอยู่แล้ว การสร้างให้ “พัทยา” เป็นภาพของ “สปอร์ต ทัวริสซึ่ม” หรือท่องเที่ยวเชิงกีฬานั้นง่าย เพราะระบบคมนาคม การเข้าสู่พื้นที่ของนักกีฬา หรือนักท่องเที่ยวนั้นจะทำได้ง่าย ขณะเดียวกัน หน่วยงานในพื้นที่ก็มีประสบการณ์การจัดแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับการผลักดันให้เป็น “สปอร์ต ซิตี้” นำร่อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบหลักที่จะทำให้ EEC และพัทยา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ” รองประธานสภาอุตฯ ท่องเที่ยวกล่าว
ด้านโครงการที่มีการเสนอเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของพัทยาอย่าง “Pattaya on Pier” หรือ “ Cruise Terminal”  ซึ่งจะเป็นจุด Land Mark แห่งใหม่ของพัทยานั้น ดร.อดิษฐ์ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า “ตนมองว่าขณะนี้การพัฒนาของพัทยานั้นเหลือเพียงเฉพาะการพัฒนาด้านระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และบำรุงซ่อมแซมถนนหนทาง เพราะทุกวันนี้ พัทยา มีแหล่งท่องเที่ยวที่ Overcapacity อยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเพิ่มในระบบการท่องเที่ยวของ EEC ก็คือ 1. การเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งระหว่างแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ 2. ระบบไอทีแพลตฟอร์มการท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ การเดินทางด้วยระบบที่เชื่อมต่อกัน

“สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะบางครั้งความไม่พร้อมเหล่านี้ได้ทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยว หากมีระบบมาตรฐานให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงข้อมูลซึ่งเป็นมาตรฐานได้ ทำอย่างไรให้เขารู้สึกถึงคุณภาพการท่องเที่ยวได้ เพราะฉะนั้นเรื่องระบบไอที  จึงถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC” ดร.อดิษฐ์ กล่าวในตอนท้าย