THEWAYNEWS > Travel > In bound > หรอยแรง แหล่งใต้ บินตรง เบตง แพ็คเกจ 3 วัน 2 คืน

                 หรอยแรง แหล่งใต้ บินตรง เบตง แพ็คเกจ 3 วัน 2 คืน

           เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา

         สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) ร่วมกับสายการบินนกแอร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเส้นทางทัวร์ หรอยแรง แหล่งใต้ บินตรง เบตง แพ็คเกจ 3 วัน 2 คืน ด้วยการบินตรงสู่เบตง จังหวัดยะลา เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวเข้าไปยัง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โดยผ่านบริษัททัวร์ ผลักดันให้มีการใช้สนามบินเบตงเพิ่มมากขึ้น กระจายการเดินทางท่องเที่ยวภายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังเพื่อนบ้านประเทศมาเลเซีย

         นักท่องเที่ยวจะได้ใช้บริการสนามบินเบตงใหม่ล่าสุดของประเทศไทย เดินบน สกายวอล์คอัยเยอร์เวง สัมผัสทะเลหมอกอัยเยอร์เวงอย่างใกล้ชิด ได้เที่ยวด่านพรมแดนไทย – มาเลเซีย ที่รัฐเปรัค เช็คอินถ่ายรูปกับ ป้าย “ใต้สุดแดนสยาม” ป้าย OK Betong ชมอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีนาถ พระพันปีหลวง เที่ยวชม Street Art Betong  ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไหว้พระขอพรที่วัดพุทธาธิวาสหรือวัดเบตง ถ่ายรูปคู่กับหอนาฬิกาเบตง สะพานแตปูซู อุโมงค์ปิยะมิตร ชมดอกไม้นานพันธุ์ที่ สวนหมื่นบุปผา เอาเท้าแช่น้ำที่บ่อน้ำร้อนเบตง ชิมไก่เบตง ผักน้ำ ปลานิลสายน้ำไหล ส้มโชกุน เคาหยก เฉาก๊วยโบราณ ติ่มซำ ชิมทุเรียนท้องถิ่น และพันธุ์มูซังคิง

                   เริ่มต้นการเดินทางที่สนามบินดอน

          ทริปนี้ใช้บริการของ บริษัท เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ จำกัด เริ่มต้นการเดินทางที่สนามบินดอน น้องไกด์ของ เมืองไทย ครีเอทีฟ ให้การต้อนรับอำนวยความสะดวกช่วยเช็คอิน ติดแท็คกระเป๋าเดินทาง บริการของว่างมื้อเช้าก่อนขึ้นนกแอร์ เที่ยวบินนี้ใข้เครื่องบินรุ่น Q400 NextGen 86 ที่นั่ง ผู้โดยเกือบเต็มลำ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 10 นาที ก็ถึงสนามบินเบตงโดยสวัสดิภาพ

         สนามบินเบตงเป็นสนามบินเปิดใหม่ล่าสุดของประเทศไทย เปิดให้บริการเที่ยวบินแรกเชิงพาณิชย์ เปิดให้บริการเชิงพานิชย์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ด้วยสโลแกน “สวรรค์บนดิน สนามบินเบตง” เป็นท่าอากาศยานขนาดเล็ก บนพื้น 920 ไร่ รองรับผู้โดยสารได้ 300 คน ต่อ 1 ชั่วโมง รองรับได้เฉพาะเครื่องบินขนาดเล็กไม่เกิน 86 ที่นั่ง ทางวิ่งกว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ตอนนี้มีสายการบินนกแอร์ให้บริการเพียงสายการบินเดียว ทำการบินสู่เบตงสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ทุกวันอังคาร ศุกร์ และอาทิตย์ เวลา 09.15 – 11.25 น. และออกจากเบตงเวลา 11.55 – 14.05 น.

                    ชิมไก่เบตง ร้านต้าเหยิน

        ลงเครื่องรับกระเป๋าเสร็จพี่ดำ ไกด์ท้องถิ่นมากประสบการณ์ ของเมืองเบตง มาให้การต้อนรับคณะเราด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าที่มีหนวด (พี่ดำเป็นไกด์ท้องถิ่นมากประสบการณ์ยังไงเดี๋ยวบอกตอนท้ายครับ) พาเราขึ้นรถตู้มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองเบตง เพื่อไปทานมื้อกลางวันที่ร้านต้าเหยิน ทุกคนยังนั่งประจำที่ไม่ครบทุกคนเลย อาหารร้อนๆมาเสิร์ฟเต็มโต๊ะเรียบร้อยแล้ว

        เมนูวันนี้ Starter ด้วย ถั่วเจี๋ยน หมูทอดเต้าหู้ยี้ ตามด้วย Main course เต้าหู้ยัดไส้ แกงจืดผักบักชอย ปลานิลสามรส หมูย่างหมั่นโถว ต่อด้วยไก่เบตงไฮไลท์ของมื้อนี้ และปิดท้ายด้วยผลไม้รวม ไม่ว่าจะทานตอนหิวหรือไม่หิวผมก็ว่าอร่อยทุกเมนู

        โดยเฉพาะไก่เบตง ใช้ไก่สายพันธ์ุมาจากเมืองจีน เลี้ยงแบบฟาร์มเปิด เลี้ยงบนดินไม่ได้ให้อยู่ในกรง ให้อาหารจำพวกถั่วและเมล็ดข้าวโพด ต้มในน้ำเดือดจัดแล้วนำมาน็อคในน้ำเย็นอีกที ได้ไก่เบตง หนังกรอบ เนื้อนุ่ม ราดมาด้วยซอสดำสูตรเฉพาะของทางร้าน เกลี้ยงหมดจานเป็นอย่างแรก ผมยกให้ร้านต้าเหยินเป็นร้านอาหารมือหนึ่งของเบตง แนะนำให้มาทานเป็นมื้อกลางวัน เพราะคนจะน้อยทานอาหารได้เยอะกว่ามื้อเย็น จะได้ไม่กังกวลเรื่องน้ำหนักจะขึ้น

                    ชมอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา

            อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา หรือ ศาลารับเสด็จ ตั้งอยู่บนยอดเขา ด้านล่างเป็นวิทยาลัยการอาชีพเบตง เป็นอาคารไม้ทรงไทยประยุกต์ หลังคาทรงจั่ว 3 หลัง มีอาคารทรงจั่วขวางอยู่ด้านหลังอีกหนึ่งหลัง เสาทำจากไม้สักทั้งต้น ผนังอาคารเป็นฝาไม้สักบานเฟี้ยมพับเปิดได้เต็มช่วงเสา หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ ประดับอยู่ทุกหน้าจั่ว

            ภายในเรือนไทยจัดแสดง เครื่องปั้นดินเผา หัตถกรรมพื้นบ้าน ของประชาชน สอดคล้องกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิดิ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ภายนอกตัวอาคารยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ และประติมากรรมปูนปั้นวรรณคดีไทย เปิดบริการให้เข้า 08.30 – 16.30 น.

                   เช็คอินใต้สุดแดนสยามช้อป Duty free ฝังมาเลเซีย

             ชมอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เสร็จแล้วก็ไปเช็คอินถ่ายรูปกันต่อที่ ป้าย “ใต้สุดแดนสยาม” ติดชายแดนมาเลเซีย นักท่องเที่ยวที่มาเบตงก็ต้องมาเช็คอินถ่ายรูปกับป้าย “ใต้สุดแดนสยาม” กันทุกคน มีจุดให้ถ่ายรูปอยู่หลายจุดเหมือนกัน ป้าย “ใต้สุดแดนสยาม” หลักเขตประเทศไทย แผ่นป้ายทองเหลืองประดับธงไทยและธงมาเลเซีย

            เช็คอินถ่ายรูปเรียบร้อยเสร็จก็ไปช้อปกันต่อได้ที่ Duty free ฝังมาเลเซีย เหล้าเบียร์ไวน์ บุหรี่ ช็อกโกแลต พี่ดำแนะนำว่าน่าจะลองซื้อเบียร์ดำของมาเลเซียไปลองชิมดู

                  กราบขอพร พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย วัดพุทธาธิวาส เบตง

        ตั้งอยู่บนเนินเขาริมถนนรัตนกิจลักษณะในตัวเมืองเบตง ด้านหน้าประดิษฐาน พระพุทธธรรมกายมงคลประยุรเกศานนท์สุพพิธาน พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลังพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ มีวิหารหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด วิหารพระครูพิศิษฐ์อรรถการประวัติดพุทธาธิวาส  และพระอุโบสถ ตั้งเรียงกันจากซ้ายไปขวา

        บนเนินเขามีเจดีย์องค์ใหญ่ศิลปะแบบศรีวิชัยประยุกต์ สีทองอร่าม สูง 39.9 เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาส สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระชนมายุครบ 60 พรรษา ได้รับโปรดเกล้าฯให้ยกวัดพุทธาธิวาสเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญตั้งแต่วันที่ 2 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2546

                ทานมื้อเย็นที่ ร้านใบยก เบตง

         เที่ยวเหนื่อยกันมาทั้งวัน ได้เวลารับประทานมื้อเย็นที่ร้านใบหยก ร้านตั้งอยู่ที่สี่แยกหอนาฬิกาเบตง มีสาขาเดียวเปิดให้บริการอยู่ที่เบตงมากว่า 30 ปี ในช่วงโควิทได้ผลกระทบปิดร้านไปถึง 9 เดือน ก็ไม่ย้ายหนีไปไหน เป็นอาหารสไตล์ผสมผสานไทย-จีน มีหมด นำประสบการณ์จากการทำอาหารกว่า 40 ปี มารังสรรค์เป็นเมนูต่างๆของทางร้าน

       เมนูวันนี้ Starter ด้วย ยำมะม่วง ถั่วเจี๋ยน เรียกน้ำย่อยก่อน แล้วตามด้วย Main course ซี่โครงหมูผัดเปรี้ยวหวาน ปลานิลน้ำไหลนึ่งบ๊วย ไก่เบตงก็อร่อยไม่แท้ร้านอื่น เคราหยก ใช้หมูสามชั้นสไลด์เรียงสลับมากับเผือกสไลด์ ตุ๋นกับซอสสูตรพิเศษของทางร้าน ได้สามชั้นเนื้อนุ่มละลายในปาก ทานกับเผือกตัดกันแก้เลี่ยนได้เป็นอย่างดี และเมนูไฮไลท์ของร้านก็คือ แกงเหลืองปลากะพงขาว พริกแกงเหลืองตำเอง ใช้ยอดมะพร้าวอ่อนแทนมะละกอ ได้น้ำแกงกลมกล่อมมาทั้งสามรส เปรี้ยวนำ เค็มตาม ปลากระพงสดเนื้อเด้ง ปรับให้เผ็ดน้อยลงกว่าแกงใต้ เป็นเมนูพื้นบ้านทางใต้ นำมาปรุงใหม่ให้ถูกลิ้นของคนเบตง

            นอกจากนี้ถ้ายังติดใจในรสชาติของแกงเหลืองของร้านใบหยก ซึ่งทางร้านทำเป็นน้ำแกงเหลืองปรุงสำเร็จบรรจุขวด ให้ลูกค้าซื้อกลับบ้าน นำไปแกงทานเองได้บ้าน และบริการจัดส่งถึงบ้านอีกด้วย

                  ดูนกนางเอนที่ หอนาฬิกาเบตง

        มาเบตงถ้าไม่ได้มาดูนกนางเอนที่ หอนาฬิกาเบตง มันเหมือนจะขาดอะไรไปอย่าง ทานอาหารเย็นเสร็จก็เดินมาที่หอนาฬาได้เลย นกนางเอนที่เกาะสายไฟอยู่รอบหอนาฬิกา ช่วงฤดูหนาวนกนางเอนจะหนาตาเพิ่มมากขึ้น เพราะจะมีนกที่อพยพจากไซบีเรียมาสมทบด้วย เดินดูนกชมหอนาฬากาไป เดินย่อยอาหารด้วย เพื่อเตรียมตัวไว้ทานโรตี เบตงได้อีก พี่ดำมีเรื่องเล่าที่เล่ากันต่อมาว่า “ถ้าใครมาเดินชมหอนาฬิกาแล้วถูกนกนางเอนถ่ายอุนจิใส่ถือว่าโชคดี”

        หอนาฬิกาเบตงเป็นสัญญาลักษณ์ของเมืองเบตง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยหินอ่อน ก่อสร้างมาพร้อมกับเมืองเบตง ตัวหอนาฬิกา มีการประดับไฟรอบหอนาฬิกาทำให้หอนาฬิกาดูโดดเด่นสวยงามขึ้นมา เนื่องจากเบตงเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย ไทย จีน พุทธ มุสลิม ช่วงเวลาที่คณะเราไปเป็นวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี เทศบาลเมืองเบตงจึงประดับไฟรูปดาวกับพระจันทร์เสี้ยวสีเหลืองเขียว

               ตู้ไปรษณีย์ยักษ์ เบตง ก็ตั้งอยู่ตรงหัวมุมสี่แยกหอนาฬิกาเบตงนั้นแหละ เดินชมหอนาฬิกาแล้วก็มาถ่ายรูปกับตู้ไปรษณีย์ยักษ์ เบตง อีกหนึ่งรูป ที่คนเบตงเขาทำตู้ไปรษณีย์ยักษ์ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะต้องการให้มันใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยความจำเป็นทางด้านสังคม และคมนาคม เพราะเมื่อก่อนเบตงเป็นเมืองห่างไกลอยู่ใต้สุดแดนสยาม การติดต่อสื่อสารกับคนภายนอก ด้วยการส่งจดหมายมีความจำเป็นอย่างมาก จึงต้องทำตู้ไปรษณีย์ยักษ์ขึ้นมา เพื่อให้ใส่จดหมายได้ที่ละเยอะๆ เพราะนานเป็นเดือนไปรษณีย์ในเมืองยะลาถึงจะมาเก็บจมหมายที่เบตงไป   

 

                     เดินชม อุโมงค์ เบตง

          อุโมงค์เบตง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหอนาฬิกาเบตง มองจากหอนาฬิกามาก็มองเห็น อุโมงค์ เบตง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ยาว 273 เมตร เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2544

           ภายในประดับไฟสว่างตาตลอดทั้งกลางวันกลางคืน เป็นอุโมงค์ลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทยที่ สร้างขึ้นมาให้ทั้งคน และรถสามารถเดินทางผ่านไปได้ เป็นอีกจุดยอดนิยมที่นักเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปเช็คอินกัน เดินลอดอุโมงค์ไปก็จะเจอกับรูปปั้นไก่เบตง ให้ถ่ายรูปกันอีจุดหนึ่ง

ขอขอบคุณภาพ Charoen Pattarapitak

                     พักที่ Grandview Landmark Betong Hotel 2 คืน

            เป็นโรงแรมที่ได้รับการ Renovate ใหม่ ทั้งหมด 78 ห้อง มีให้เลือกนอนได้หลายแบบ Suite Room ใหญ่โตกว้างขวาง เดินเข้าไปด้านขวาเป็นชุดโซฟารับแขก ด้านขวาเป็นห้องน้ำสะอาดแบ่งส่วนแห้งเปียกชัดเจน เดินตรงไปเข้าห้องนอนใหญ่พร้อมเตียง King bed นุ่มสบายไม่แข็งเกินไป ทางขวาของห้องยังมีห้องนอนเล็กอยู่อีก 1 ห้อง Suite Room นี้เหมาะสำหรับการมาพักผ่อนแบบครอบครัวอย่างยิ่ง 

 

              Deluxe Room ห้องพักตกแต่งด้วยโทนสีอ่อน พร้อมเตียง King bed ทางขวาเป็นห้องน้ำแบ่งส่วนแห้งเปียกด้วย มีผ้าเช็ดตัวพร้อมผ้าเช็ดหน้าให้ด้วย เหมาะสำหรับคนที่มากับคนรู้ใจ

              Double Deluxe Room เป็นห้องที่เหมือนกับ Deluxe Room ทุกอย่าง ยกเว้นเตียงนอนที่มี 2 เตียง เหมาะสำหรับมาพักกับเพื่อนสนิทหรือเพื่อนรวมทางก็ได้

              คณะของเรานอนที่นี่ 2 คืน ถ้ามีโอกาสมาเบตงแนะนำเข้าพักที่ Grandview Landmark Betong Hotel ห้องพักสะอาด ภายในห้องมีน้ำดื่ม และส้มโชกุนให้ชิมคนละ 2 ผล และราคาเป็นกันเองอย่างมาก พนักงานดูแลเอาใจใส่แขกที่มาพักเป็นอย่างดีเหมือนโรงแรมระดับห้าดาว

                 ขึ้น Sky walk ชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง

          Sky walk ชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง โครงสร้างทำด้วยเหล็กแผ่นพื้นเป็นไฟเบอร์ซีเมนต์ ยึดโยงพื้นทางเดินด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่ 6 เส้น มีทั้งหมด 5 ชั้น ปลายสุดของ Sky walk เป็นรูปวงกลมพื้นทำจากกระจกนิรภัย สามารถมองเห็นป่าไม้บนทิวเขาอัยเยอร์เวงได้อย่างชัดเจน มีลิฟท์ให้บริการแก่ผู้สูงอายุและผู้ที่ใช้รถเข็น สร้างเสร็จและเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2563

        นักท่องเที่ยวที่จะมาชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า นั่งรถออกมาจากโรงแรมประมาณ 45 นาที ก็จะมาถึงที่จอดรถเพื่อเปลี่ยนเป็นรถกระบะของชุมชน และเป็นการกระจายรายได้ลงสู้ชุมชนอีกทางหนึ่ง และก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตำบลอัยเยอร์เวง เปลี่ยนจากพื้นที่สีแดงเป็นสีเขียวด้วยเงินที่ลงสู่ชุมชนโดยตรงนี่แหละ

        มาถึง Sky walk มีจัดคิวต่อแถวเป็นระเบียบ ลงทะเบียนแล้วจะได้รับแจกรองเท้าผ้าสวมหุ้มรองเท้าได้เลยทุกคน ใครมาก่อนได้ขึ้นก่อน ผู้สูงอายุหรือคนที่ใช้รถเข็นใช้ลิฟท์ขึ้นไป คนที่แข็งแรงหน่อยก็เดินขึ้นบันไดไป จุดชมวิวมีให้เลือกถึงชั้น 5 ส่วน Sky walk จะอยู่ชั้น 2 มีการจัดระเบียบให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมทะเลหมอกเป็นรอบๆ ไม่ให้คนหนาแน่นเกินไป คนขึ้นทางหนึ่งและไปลงอีกทางหนึ่ง มีรถสองแถวมารับมาส่งเป็นระบบ อบต. อัยเยอร์เวง จัดการได้อย่างดีเยี่ยม ผมนึกว่ามาเที่ยวที่มาเลเซียเสียอีก

         ทะเลหมอกอัยเยอร์เวงมีชมได้ได้ทั้งปี 365 วัน เพราะเมืองเบตงตั้งอยู่ในหุบเขา มีลักษณะเหมือนแอ่งกระทะที่โอบล้อมด้วยหุบเขาน้อยใหญ่ พื้นที่ทั่วไปสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,900 ฟุต ทำให้เกิดหมอกในตอนเช้าเกือบทุกวัน วันนี้ทะเลหมอกมีหมอกไม่หนาแน่นเท่าไหร่นัก แต่หมอกก็ฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งเทือกเขาอัยเยอร์เวง เห็นได้กว้าง 360 องศา

                       ทาน Breakfast ที่สถานี 32

ขอขอบคุณภาพ Charoen Pattarapitak

              ร้านสถานี 32 ตั้งอยู่ริมทางไปดูทะเลหมอกอัยเยอร์เวงตรงกิโลเมตรที่ 32 จึงชื่อว่า ร้านสถานี 32 เปิดร้านขึ้นมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่กลับจากดูทะเลหมอกอัยเยอร์เวงโดยเฉพาะ ให้มีอาหารเช้ารับประทาน เครื่องดื่มพื้นบ้าน โกปี้ร้อนเย็น ชาชักร้อนเย็น

ขอขอบคุณภาพ Charoen Pattarapitak

              เมนู Breakfast ก็ง่ายๆไม่ยุ่งยาก ข้าวหมกไก่ทอด ข้าวยำ และข้าวต้มทะเล ปรุงใหม่สดจานต่อจาน ผมสั่งมาทานทุกเมนูเลยอร่อยทุกอย่าง โดยเฉพาะข้าวยำมีแบบเครื่องปรุงสำเร็จให้ซื้อกลับบ้านได้ด้วย

                     น้ำตกอัยเยอร์เค็ม หรือน้ำตกเฉลิมพระเกียรติ .9

          ปากทางเข้าของน้ำตกก็เป็นทางเข้าทางเดียวกันกับร้านสถานี 32 ถ้านักท่องเที่ยวไม่เห็นป้ายทางเข้าน้ำตก ก็จะไม่รู้ว่ามีน้ำตกซ้อนตัวอยู่ในซอยนี้ ขนาดผมมาเบตงก็หลายครั้ง ยังไม่เคยรู้เลยว่า เบตงมีน้ำตกที่สวยงามยิ่งใหญ่อลังการขนาดนี้

        ทาน Breakfast กันเสร็จแล้วก็นั่งรถต่อเข้าไปในซอยข้างร้านเลย ขับเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงปากทางเข้าน้ำตก ตรงปากทางเข้ามีป้าย น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ที่ อบต.อัยเยอร์เวง สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องใน มหามงคลครบรอบ 72 พรรษาในปี 2542 นอกจากทำป้ายตรงปากทางเข้าแล้ว อบต.อัยเยอร์เวง ยังได้สร้างทางเดินเข้าไปยังตัวน้ำตกประมาณ 800 เมตร และทำสะพานพร้อมหลังคาข้ามไปยังอีกฝังของน้ำตก เพื่อพัฒนาบุกเบิกให้เป็นแหล่งท่องที่สำคัญของเมืองเบตง

         ตัวน้ำตกสูงและใหญ่มาก มีจุดให้ถ่ายรูปได้ทั้งฝั่งซ้ายและฝังขวา วิวฝั่งซ้ายของน้ำตกต้องปีนโขดหินขึ้นไปหน่อย ถึงจะเห็นน้ำตกกว้าวเต็มตา ส่วนวิวฝั่งขวาต้องเดินข้ามสะพานไป ก็จะได้วิวน้ำตกที่ไหลลงมาในอ่างหน้าน้ำตก แล้วไหลเป็นสายธารลงสู่ด้านล่าง ถ้ามีเวลามากนักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำที่หน้าน้ำตกได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังหน่อย ผู้สูงอายุไม่แนะนำให้ลงไปครับเพราะหินมันลื่นมาก

                 สะพานแตปูซู จุดเช็คอิน Trendy เมืองเบตง

         ป้ายสะพานแตปูซู สร้างขึ้นใหม่แทนป้ายไม้เก่า และใหญ่กว่าเดิมให้นักท่องเที่ยวสังเกตเห็นได้ง่าย จึงกลายเป็นจุดเช็คอินแห่งใหม่เมืองเบตง เมื่อมีนักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ต่อยาวมาถึงปัจจุบันใครมาไม่แวะถ่ายรูปเช็คอินไม่ได้แล้ว

         สะพานแตปูซู จุดเช็คอิน Trendy เมืองเบตง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 บ้าน กม.32 สร้างจากการร่วมใจกันทั้งทางราชกาล และคนในชุมชน ชื่อสะพานได้มาจาก อดีตกำนันตำบลอัยเยอร์เวง นายมูเซ็ง แตปูซู ผู้ที่คิดริเริ่มสร้างขึ้นให้เป็นทางสัญจรไปมาระหว่างชุมชน 2 ฝั่ง แม่น้ำปัตตานี และเริ่มสร้างในสมัยที่ นายมูเซ็ง แตปูซู ยังเป็นกำนันอยู่ ตัวสะพานกว้าง 1.80 เมตร ยาวประมาณ 100 เมตร ประกอบด้วยเสา 2 ฝั่งหล่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขึงด้วยลวดสลิงนำเข้าจากญี่ปุ่น พื้นสะพานทำด้วยไม้ระแนงยึดด้วยน๊อตเหล็กวางอยู่บนลวดสลิง

                   บ้านโบราณ 150 ปี ชุมชนจีนฮากกา เบตง

         นาย ลู่ ฟ้อน คี แซ่ลู่ เป็นเจ้าของบ้านโบราณ 150 ปี และเป็นผู้บุกเบิกให้เกิดเป็นชุมชนฮากกา (จีนแคะ) ที่หมู่ 1 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง แห่งนี้ อาศัยอยู่กันมาถึง 3 ช่วงอายุคน ทาญาติรุ่นปัจจุบันก็เคยอาศัยอยู่ที่นี่ แต่ปัจจุบันย้ายไปทำมาหากินอยู่ที่กรุงเทพมหานครกันหมดแล้ว

         ปัจจุบันบ้านหลังนี้อยู่ในความดูแลของ อบต. เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ บ้านเป็นแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานจีนกับยุโรป หลังคาทรงปั้นหยาแบบมีมุกจั่ว มุงด้วยกระเบื้อดินเผา ตัวเรือนตรงกลางมีมุกปั้นหยา พร้อมระเบียงชั้นบนยื่นออกมาจากตัวบ้าน ตัวบ้านทำจากไม้ทั้งหลัง ยกเว้นเสา และพื้นชั้นล่างเป็นพื้นปูน หน้าต่างไม้บานเปิด มีช่องบานเกล็ดรับลมธรรมชาติในตัว และไฮไลท์ของบ้านหลังนี้สร้างด้วยการเข้าสลักไม้ ไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว

                    จิ้มจุ่ม ปลานิลน้ำสายน้ำไหล ร้านโถหงิ่ว

          ร้านโถหงิ่ว ตั้งอยู่ที่ ตำบล ตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง เมื่อก่อนเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหล ส่งให้ตามร้านอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพิ่งมาเปิดร้านทำเป็นร้านอาหารให้นักท่องเที่ยวมานั่งทานถึงบ่อเมื่อ 3 ปี ที่แล้ว ด้วย Concept  ทานปลานิลน้ำไหลจากเทือกเขาสันกาลาคีรีสดๆ ที่ริมบ่อกันเลยที่เดียว

        วันที่ 2 มื้อกลางวันมาทาน ที่ร้านโถหงิ่ว เมนูวันนี้ก็ ผักน้ำพัดน้ำมันหอย ปลานิลนึ่งบ๊วย ขาหมูสามรส และเมนูไฮไลท์ก็คือ  จิ้มจุ่ม ปลานิลน้ำสายน้ำไหล ปลานิลสไลด์มาเป็นชิ้นบางๆ จุ่มในน้ำซุปเดือดๆ จิ้มกับน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวสูตรเฉพาะของทาง ปลานิลเนื้อนุ่มเด้งมาก ไม่กลิ่นคาวมารบกวนใจเลยสักน้อย น้ำจิ้มเค็มน้ำเปรี้ยวตาม อร่อยนุ่มลิ้นมาก

                 ชิมเฉาก๊วยบ้านตึก เบตง (วุ้นดำ) กม.4

           ร้านเฉาก๊วยบ้านตึก เบตง กม.4 ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ถนน สุขยางค์ ตำบล ตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง เปิดขายมากว่า 40 ปี ต้นเฉาก๊วยแห้งคุณภาพดีนำเข้าจากมาเลเซีย ใช้น้ำแร่ธรรมชาติต้มเฉาก๊วยแห้งด้วยเตาฟืน กวนน้ำเฉาก๊วยให้งวดเหนียว กวนวันนี้ ทิ้งไว้ให้เย็นเอาไว้ขายพรุ่งนี้

          เฉาก๊วยคนเบตงจะเรียกว่าวุ้นดำ ชิมเฉาก๊วย บ้านตึก เบตง กม.4 แล้วคลายร้อนสดชื่นขึ้นมาทันตา เพราะฉวยก๊วยมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเสมหะ แก้คลื่นไส้ เบื่ออาหารช่วยลดไข้ แก้ตัวร้อน ร้อนใน ลดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ อาการตับอักเสบ ลดอาการไขข้ออักเสบ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย ที่ร้านยังมีขนมถ้วยโบราณแบบจีนฮากกา สีเหลืองอ่อน โรยด้วยกระเทียมเจียว ให้ลองชิมด้วย กินกับเฉาก๊วยเข้ากันได้ดี

                 ชมสวนดอกไม้เมืองหนาว ที่สวนหมื่นบุปผา

       ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านปิยะมิตร 2 ตำบล ตะเนาะแมเราะ เป็นหมู่บ้านของผู้ที่เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อครั้งที่ประเทศไทยมีนโยบายให้ โจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) กลับใจเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ส่งเสริมให้ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก  ต่อมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มีพระดำริให้ทำ โครงการปลูกดอกไม้เมืองหนาวขึ้นที่สวนหมื่นบุปผาแห่งนี้ เพราะเมืองเบตงตั้งอยู่ในพื้นที่สูง อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี จนเป็นสถานที่ยอดนิยมของเมืองเบตงในปัจจุบัน

          สวนหมื่นบุปผามีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 15 ไร่ มีธารน้ำไหลผ่านกลางสวน ร่มรื่นสวยงาม อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี ปลูกดอกไม้เมืองหนาวกว่า 100 ชนิด เช่น ดอกลิลลี่ ทิวลิป ไฮเดรนเยีย เบญจมาศ มะเขือมิกกี้เมาส์ เป็นต้น นอกจากยังมีศูนย์เรียนรู้สำหรับคนที่สนใจ จะปลูกดอกไม้พันธุ์ต่างๆให้เขามาฝึกอบรมกันด้วย นักท่องเที่ยวจะนอนพักค้างคืนที่นี่เขาก็มีห้องพักให้บริการถึง 80 ห้อง

                 อุโมงค์ปิยะมิตร ฐานปฏิบัติการขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.)

       ตั้งอยู่ที่ บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอุโมงค์ที่ขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) สร้างขึ้นมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมืองกับประเทศไทย ด้วยการเจาะเข้าไปในภูเขา กว้าง 1.50 เมตร สูง 1.80 เมตร ลึกประมาณ 100  เมตร มีทางออกทั้งหมด 9 ทาง ใช้ผู้ร่วมอุดมการณ์ทั้งหมด 50 คน ขุดทั้งวันทั้งคืนใช้เวลา 3 เดือน จึงเสร็จ และใช้เป็นที่หลบภัยจากการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลไทยในขณะนั้นด้วย ปัจจุบันเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้เข้าชมทุกวัน เปิด เวลา 8.00 – 16.30 น.

       ด้านหน้าทางเข้าอุโมงค์มีลำธารไหลผ่าน ก่อนเข้าตัวอุโมงค์เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีห้อครัวพร้อมอุปกรณ์ทำครัวครบครัน และยังทำเป็นห้องบรรยายเรื่องราวประวัติของอุโมงค์ปิยะมิตร ให้นักท่องเที่ยวรับทราบข้อมูลก่อนเข้าชม เดินเข้าไปในอุโมงค์จะพบกับห้องต่างๆมากมาย มีครบหมด ห้องเก็บอาหาร ห้องครัว ห้องนอน ห้องประชุม และทางแยกของอุโมงค์หลายทาง ให้เดินไปตามลูกศรบอกทางที่เขาติดไว้ ภายในอุโมงค์มีช่องระบายอากาศอยู่หลายทาง ทำให้ไม่รู้อึดอัดตอนเดินชมอุโมงค์ และยังมีไฟส่องทางติดไปตลอดเส้นทางอีกด้วย

                  ใช้เวลาชมอุโมงค์ประมาณ 30 นาที ก็เดินมาถึงทางออกปลายอุโมงค์ ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะขุดจนสำเร็จขึ้นมาได้ สามารถให้คนเข้าไปหลบภัยพร้อมกันถึง 200 คน ด้วยเครื่องมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน

                     พี่ดำบอกว่า “มีการส่งหัวหน้า จคม. ไปอบรม และได้นำองค์ความรู้มาจากเมืองจีน มาใช้ในการขุดอุโมงค์แห่งนี้” ที่ปลายอุโมงค์จะเป็นทางลง ไปหาต้นไทรยักษ์ อายุหลายร้อยปี ที่อยู่หลังอุโมงค์ นักท่องเที่ยวก็ได้ถ่ายรูปเช็คอินกันอีกจุดหนึ่ง

                   หย่อนเท้าแช่ บ่อน้ำพุร้อน เบตง

              บ่อน้ำพุร้อนเบตง ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านจะเราะปะไร ตำบลตะเนาะแมเราะ เป็นบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติขนาดใหญ่ ในน้ำพุร้อนมีกรดกำมะถันอยู่มาก จึงมีสรรพคุณมากมาย ช่วยลดไขมัน บรรเทาอาการของโรคผิวหนังบางชนิด แก้โรคเหน็บชา ปรับสภาพร่างกายให้ผ่อนคลายได้ ภายในบริเวณบ่อน้ำพุร้อน มีหลายบรรยากาศให้นักเที่ยวได้เลือกซึมซับ บ่อแช่เท้า บ่อต้มไข่ และอาบน้ำแร่ภายในอาคาร

        ถ้ามาเที่ยวบ่อน้ำร้อนในตอนเช้าก็จะได้บรรยายกาศอีกแบบหนึ่ง เพราะที่เบตงอากาศจะเย็นตลอดทั้งปี ควันจากบ่อน้ำพุจะขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจน จะเห็นคนในชุมชน และนักท่องเที่ยวนำไข่มาต้มในบ่อต้มไข่ ซึ่งมีอุณหภูมิถึง 80 องศาเซเซียส ใช้เวลาเพียง 7 นาที เท่านั้น ก็นำไปทานเป็นมื้อเช้าได้แล้ว สำหรับผมมาถึงบ่อน้ำพุร้อนในตอนใกล้ค่ำแล้ว และมีเวลาน้อยด้วยก็เลยได้แค่หย่อนเท้าแช่ลงบ่อน้ำพุร้อน นั่งชมบรรยายกาศสบายๆยามเย็นเท่านั้น

            ชิมทุเรียนมูซางคิม VS ทุเรียนพื้นเมืองเบตง

      แช่เท้าในบ่อน้ำพุร้อนเสร็จ อุ่นเท้าสบายใจแล้วก็เดินมาฝั่งตรงข้ามกับทางเข้าบ่อน้ำพุร้อน เพื่อมาชิมทุเรียนมูซังคิม VS ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองเบตง ด้านหน้าบ่อน้ำพุร้อนจะมีร้านขายทุเรียนทั้งพันธุ์พื้นเมืองเบตง และพันธุ์มูซังคิมให้เลือกชิมอยู่หลายร้านเหมือนกัน คณะของเราเลือกร้านไว้แล้วก็ตรงเขาไปนั่งประจำที่ได้เลย ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองเบตงมาเสิร์ฟก่อนเป็นลูกแรก ทุกคนลือกชิมได้ตามใจชอบ พันธุ์พื้นเมืองเบตงผ่านไป ทุเรียนมูซังคิมก็เสิร์ฟตามมา ถามผมว่าชอบแบบไหนก็แล้วแต่คนชอบครับ ถ้าเนื้อเนียมหวานน้อยก็ให้เลือกชะนีเบตง ถ้าชอบเนื้อละเอียดหวานขึ้นมาหน่อยก็เลือกมูซังคิม ส่วนที่ชอบมากที่สุดก็คือ รายการนี้ไม่ต้องเสียตังค์สักบาทเพราะรวมอยู่ในโปรแกรมทัวร์แล้วด้วย

              ก่อนเข้าตัวเมืองเบตง แวะถ่ายรูปกันที่ป้าย OK BETONG กันก่อน พี่ดำเล่าให้ฟังว่า “ป้าย OK BETONG เทศบาลเมืองเบตง ทำขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเช็คอินถ่ายรูปกัน ว่ามาถึงเบตงแล้ว สร้างขึ้นหลังจากที่ภาพยนต์เรื่อง โอเค เบตง เข้าฉายเมื่อปีพ.ศ. 2546 และยกกองถ่ายมาถ่ายที่เมืองเบตงเกือบทั้งเรื่อง ทำให้เมืองเบตงเป็นที่รู้จักของคนไทยเพิ่มมากขึ้น แต่ก็น่าเสียที่คนเบตงไม่ได้ดู เพราะโรงภาพยนต์ในเมืองเบตงปิดตัวไปเมื่อปีพ.ศ. 2539 ”

             ก่อนเข้าทานอาหารค่ำ พี่ดำพามาชมสนามกีฬาเทศบาลเบตง เป็นสนามกีฬาที่อยู่บนเขาแห่งเดียวในประเทศไทย ตัวสนามมีสนามฟุตบอลขนาดมาตราฐาน คอนกรีตเสริมเหล็ก แบบมีลู่วิ่ง เจาะเขาเป็นขั้นบันไดเพื่อทำอัฒจันทร์ล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ช่วงเย็นๆจะมีคนมา นั่งพักผ่อน เตะฟุตบอล วิ่งออกกำลังกาย เป็นประจำทุกวัน 

                  เคราหยก ร้านก้งถง

         วันที่ 2 เรามาทานมื้อเย็นกันที่ ร้านก้งถง ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกันกับ Grandview Landmark Betong Hotel ที่เราพักอยู่ 2 คืน และตั้งอยู่ที่หน้าโรงแรมด้วย เป็นร้านสไตล์สวนอาหารแบบ Out door มีอาหารหลากหลายไทยจีนฝรั่งครบ เมนูวันนี้เริ่มต้นด้วยใบเหลียงผัดไข่ ยำผักกูด ถั่วเจี๋ยน น้ำพริกกะปิผักรวม เป็นออร์เดิร์ฟก่อน ตามด้วย น้ำพริกกะปิผักรวม ไก่เก้าชั่งเบตง หมูสามชั้นคั่วพริกเกลือ ปลานิลน้ำไหลทอดขมิ้น

ขอขอบคุณภาพ Charoen Pattarapitak

           ปิดท้ายด้วย เคาหยก เป็นเมนูแนะนสำหรับมื้อนี้ สามชั้นทอดกรอบนอกนุ่มใน แล้วนำไปตุ๋นกับซอสสูตรเฉพาะของทางร้านต่อ จนเปื่อยน้ซอสเข้าเนื้อ เคียงมาด้วยผักกาดดองเค็มแห้ง หรือหมุ่ยโชย ล้างให้หายเค็ม ผัดให้หอมแล้วตุ๋นพร้อมสามชั้นจนเปื่อยนุ่ม ได้สามชั้นเนื้อนุ่มละลายในปาก ตัดเลี่ยนด้วยหมุ่ยโชยเปื่อยมาก รสกลมหวานนำตามด้วยเค็มนิดเข้ากันได้ดี แนะนำมาทานร้านนี้ต้องสั่ง เคราหยก ร้านก้งถง

                 อาหารเช้า ติ่มซำไทซีฮี้

         ตั้งอยู่หัวมุมหอนาฬิกาเบตงเลย เห็นหอนาฬิกาก็ต้องเห็น ร้านติ่มซำไทซีฮี้ เป็นร้านเก่าแก่เปิดขายมาพร้อมกับการก่อตั้งเมืองเบตง ร้านเปิดตั้งแต่ตีห้าเปิดปุ๊บคนก็เกือบเต็มร้านแล้ว ร้านมี 2 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นแบบ Walk in ชั้นบนสำหรับจองโต๊ะล่วง หรือสำหรับคณะทัวร์ เรานั่งชั้นบนเพราะจองไว้แล้ว

        มื้อเช้าส่งท้ายก่อนจบทริป เราก็เลยมากินติ่มซำกันที่ร้านไทซีฮี้ ตามแบบฉบับของคนเบตง เพราะคนเบตงเขากินติ่มซำกันเป็นอาหารเช้า แล้วเขาก็กินมื้อเช้าที่เช้ามืดจริงๆ เครื่องดื่มก็มี กาแฟ โกปี๊ และชาร้อน เมนูมีให้เลือกหลากหลาย ทุกเมนูทำเองที่ร้านทำใหม่สดทุกวัน ตีนไก่น้ำแดง บะจ่าง ขนมจีบ ซาลาเปาไส้ต่าง เผือกทอด กระเพราปลา สั่งได้เลยอร่อยทุกอย่าง ไฮไลท์ของร้านนี้ก็คือ ติ่มซำต้องกินคู่กับชาเก๊กฮวยร้อน รสเข้ม หอมกลิ่นเก๊กฮวย สูตรของทางร้านเข้ากันได้ดีขอบอก

              Street art เมืองเบตง

       ปิดท้ายทริปนี้ด้วยเดินชม Street art ซึ่งมีอยู่เกือบทุกตรอกซอกซอยในเมืองเบตง แต่ Street art ภาพแรกของเมืองก็คือ Street Art King Bhumibol ขนาด 8×12 เมตร ตั้งอยู่ฝาผนังอาคารเรียนของโรงเรียนอนุบาลเบตง เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ของรัชกาลที่ 9 ผลงานของ นายชวัส จำปาแสน ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมเพื่อนอาจารย์ อีก 2 คน พร้อมข้อความที่พระรับสั่งว่า ไม่ได้จะมารบกับโจร ฉันจะมาเยี่ยมเยียนประชาชน มาช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะพสกนิกรที่นี่ยากลำบากมาก พร้อมกับหันไปตรัสกับผู้ติดตามว่า หากใครกลัวก็กลับไปก่อน ฉันยังไม่กลับ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่อำเภอเบตง จ.ยะลา เมื่อปี พ.ศ.2519

           ต่อมาอาจารย์อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณะบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำทีมนักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร มาวาด Street Art Betong ขึ้นอีกชุดหนึ่ง 11 จุด ทั้งบนผนัง กำแพง ใต้สะพาน และตัวอาคารหลายจุดรอบเมืองเบตง ภาพที่เขียนส่วนใหญ่ จะเป็นภาพที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวเบตง รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีอยู่จริงในเมืองเบตง

      และภาพล่าที่สำคัญก็คือภาพ พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิดิ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งอยู่ในซอยตรงข้ามกับร้านต้าเหยิน เป็นภาพที่เพิ่งวาดขึ้นมาใหม่วาดเสร็จมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 นี้เอง วาดโดยกลุ่มศิลปินจิตอาสาจากกรุงเทพมหานคร โดยโกเอ๊กซ์ ช่วยอำนวยความสะดวกให้

                           แวะซื้อของฝากกันที่ อาณาจักรของฝากเมืองเบตง

         ก่อนขึ้นเครื่องกลับแวะซื้อของฝากกันที่ อาณาจักรของฝากเมืองเบตง ตั้งอยู่ที่เดียวกับโรงเรียนอนุบาลเบตง ด้วยการนำอาคารไม้เก่าของโรงเรียนเบตง มาปรับปรุงให้เป็น อาณาจักรของฝากเมืองเบตง ขายสินค้า Otop ของคนในพื้นที่เบตง และสินค้า Otop ของสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย หมี่เบตง ผ้าปาเต๊ะ เบตง ข้าวเกีรยบกรือโป๊ะ เป็นต้น นอกจากร้านขายของฝาก แล้วยังมีร้านกาแฟ ภาพ Street art นักท่องเที่ยวได้มาเช็คอินถ่ายรูปกันอีกจุดหนึ่งด้วย

            นอกจากนี้ภายอาณาจักรของฝากเมืองเบตง ยังได้จัดแสดงพระราชกรณียกิจ ของในหลวงรัชการที่ 9 นักท่องเที่ยวที่มาซื้อสินค้าได้ชื่นชมอีกด้วย

                   ย่อหน้าสุดท้าย

        อย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นไฮไลท์ของทริปนี้ก็คือพี่ดำ ไกด์ท้องถิ่นชาวเบตงตั้งแต่กำเนิด ในปีพ.ศ. 2519 รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ ขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) วางอาวุธมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยมีแรงจูงใจให้ผู้ที่กลับใจจะได้บัตรประชาชน พร้อมที่ดินทำกินคนละ 15 ไร่ พี่ดำก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยที่ได้รับสิทธิ์ เพราะเคยเข้าร่วมกับ จคม. มาแล้ว จึงมีขอมูลมากมายที่บรรยายให้กับพวกเราฟัง ข้อมูลที่ผมเขียนในคอลัมน์ส่วนใหญ่มาจากพี่ดำครับ

        อยากเจอกับไกด์พี่ดำ และเที่ยวตามรอยพวกเรา ซื้อแพ็คเกจทัวร์ หรอยแรง แหล่งใต้ บินตรง เบตง ได้กับบริษัท เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ จำกัด โทร. 081- 251- 2207 , 085 – 065 – 8144 , 064 – 232 – 2878 ถ้าใช้สิทธิโครงการทัวร์เที่ยวไทย รัฐช่วยจ่ายค่าแพ็คเกจทัวร์ 40% สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท