THEWAYNEWS > Travel > In bound > เครื่องแกงร้อนแรง อาหารทะเลสด สุดแดนตะวันออก ตราด Delicious Destination @ Trat EP. นั่งเรือไปงมหอยเอามาแกง วิถีชุมชนบ้านไม้รูด

     เครื่องแกงร้อนแรง อาหารทะเลสด สุดแดนตะวันออก ตราด Delicious Destination @ Trat EP. นั่งเรือไปงมหอยเอามาแกง วิถีชุมชนบ้านไม้รูด

               เรื่อง สุเทพ ช่วยปัญญา ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา ชาธร โชคภัทระ

        องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ร่วมกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) จัดโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหารในพื้นที่พิเศษของ อพท. เพื่อสร้างทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร ให้เป็นทางเลือกกับนักท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ชุมชน ลดช่องว่างการเหลื่อมล้ำทางสังคม และอนุรักษ์อาหารถิ่นให้คงอยู่คู่ไทย โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดแรก มาจันทบุรี ทริปนี้เดินทางมาที่จังหวัดตราดเป็นจังหวัดที่ 3 ในกิจกรรม เครื่องแกงร้อนแรง อาหารทะเลสด สุดแดนตะวันออก ตราด Delicious Destination @ Trat EP. นั่งเรือไปงมหอยเอาแกง วิถีชุมชนบ้านไม้รูด

       จังหวัดตราดอยู่สุดชายแดนด้านตะวันออกของไทย ติดกับจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา มีทั้งหมด 52 เกาะ พลเมืองมีวิถีชีวิตเรียบง่ายในชุมชนที่เข้มแข็ง ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ สมุนไพรเครื่องเทศหลากหลายพันธ์ุ คนส่วนใหญทำประมงชายฝั่ง เพาะหอยนางรม เลี้ยงปลาในกระชัง ทำไร่ ทำสวน ดูแลระบบนิเวทด้วยการรักษาป่าชายแลน อนุรักษ์พันธ์ุปู ทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อผลักดันให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนได้มากขึ้น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจังหวัดได้ด้วยตัวเอง คำว่า ตราด อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า กราด เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในจังหวัดตราด คนพื้นเมืองนิยมเอามาทำไม้กวาด

              เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด

      มาท่องเที่ยวในจังหวัดตราด อยากรู้จักเมืองตราดให้มากขึ้น ต้องเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑสถานเมืองตราดเสียก่อน เดิมเป็นศาลากลางจังหวัดตราด ตั้งอยู่ที่ ถ.สันติสุข ต.บางพระ อ.เมือง จ.ตราด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ยกพื้นใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยา กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2547 ต่อมาอาคารถูกไฟไหม้ทั้งหลัง ประชาชน เทศบาล และข้าราชการจังหวัดตราด ร่วมกันสร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานเมืองตราด

        ภายในจัดแสดงแผนภูมิแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดตราด ห้องถัดไปจัดแสดงนิทรรศการ ประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นถิ่นเมืองตราด ห้องต่อมาเป็นห้องมัลติมีเดียฉายภาพในอดีต เล่าถึงการเป็นเอกราชของเมืองตราดจากนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส ห้องโถงมีตู้แสดงกลองมโหระทึกโบราณ เครื่องถ้วยชาม และแจกันโบราณ เป็นต้น

                 เยี่ยมชมศาลาราชการุณย์ สภากาชาดไทย

            ศาลาราชการุณย์ สภากาชาดไทย ตั้งอยู่ที่เขาล้าน บ้านไม้รูด ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เดิมที่นี่คือ ศูนย์สภากาชาดไทย เขาล้าน เมื่อปี พ.ศ. 2522 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระพันปีหลวง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนัก และช่วยเหลือชาวกัมพูชาที่อพยพหนีภัยสงคราม ข้ามเขาเข้ามายังฝั่งประเทศไทย ภายหลังชาวกัมพูชาได้แยกย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมไปหมด หลังสงครามยุติ ศูนย์ฯ แห่งนี้จึงปิดทำการลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชดำริ ให้สภากาชาดไทย จัดสร้าง ศาลาราชการุณย์ สภากาชาดไทย ขึ้นมาใหม่ ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย เจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน

         ภายในจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระพันปีหลวง ก่อนเข้าชมมีกการฉายวิดิทัศน์เกี่ยวกับผู้อพยพชาวกัมพูชา พิพิธภัณฑ์ฯประกอบไปด้วยนิทรรศการพระราชกรณียกิจของพระองค์ หุ่นจำลองชาวกัมพูชาอพยพขณะทำภารกิจประจำวัน งานฝีมือของผู้อพยพที่ได้รับการสอนจากครูศิลปาชีพ สิ่งของที่ผู้อพยพนำติดตัวมาในช่วงที่เข้ามาอาศัยแผ่นดินไทย ด้านหลังมีสวนไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด สวนสมุนไพร

          นอกจากนี้ยังมีวิหารหลวงพ่อแดง ภายในประดิษฐานหลวงพ่อแดง พระพุทธรูปแบบสุโขทัย องค์สีแดง ปางมารวิชัย ที่ทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้อพยพในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดตราดเป็นอย่างมาก รถผ่านไปมาแถวนั้นต้องบีบแตรกันเกือบทุกคัน เพิ่มเป็นการกราบบูชาและด้านหลังศูนย์ฯ ยังมีชายหาดเงียบสงบเหมาะสำหรับการเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ ในศูนย์ฯ ยังมีที่พักบริการสำหรับคนที่ปรารถนา มาสัมผัสบรรยากาศทะเลตราดอย่างใกล้ชิดได้ด้วย

                  สัมผัสวิถีประมงชายฝั่ง ชุมชนบ้านไม้รูด

            จะท่องเที่ยวชุมชนก็ต้องมาสัมผัสวิถีของชุมชนด้วย ชุมชนบ้านไม้รูด ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมงขนาดเล็กตามชายฝั่ง ออกเรือตอนเช้ามืด สายๆหน่อยเรือก็พาเรือเข้าฝั่ง เอากุ้ง หอย ปู ปลา กั้ง ที่หามาได้ส่งตลาด บ้างทีลูกค้าก็มารับซื้อถึงที่ ที่เหลือก็นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปตำบล

           เดินลงจากสะพานข้ามคลองไม้รูด ลงมาที่ชุมชนบ้านไม้รูดริมคลอง ก็เห็นเพิงพักบ้านไม้ที่ปลูกขึ้นแบบเรียบง่าย ตลอดแนวสองฝั่งคลองไม้รูดก่อนออกทะเล ใช้ทางร่วมทำด้วยคอนกรีตที่ไม่กว้างมากนัก ระหว่างคนเดินกับรถมอเตอร์ไซด์ เป็นทางสัญจรไปมาหาสู่ของคนในชุมชน เรือใหญ่เริ่มเดินทางออกทะเลอีกครั้งในช่วงสายๆ ส่วนเล็กก็ทะยอยเข้าฝั่ง เรือที่เข้าฝั่งแล้วก็เทียบท่า เอาสัตว์น้ำที่หาได้ขึ้นฝั่ง ให้แม่บ้านไปทำอาหาร ส่วนที่เหลือก็นำไปขายหรือแปรู คนที่ไม่ได้ออกเรือก็นั่งซ่อมข่ายซ่อมลอบกันไป มีความสุขอยู่กับความเรียบง่ายตามวิถีชุมชนที่เป็นอยู่

                       ชิมก๋วยเตี๋ยวกั้งป้านา ร้านริมคลองไม้รูด

          เดินสัมผัสวิถีชุมชนบ้านไม้รูดอยู่นานจนเริ่มหิว เที่ยวชุมชนก็ต้องหาของอร่อยๆในชุมชนรองท้องสักหน่อย ที่ริมคลองไม้รูดมี “ร้านก๋วยเตี๋ยวกั้งป้านา” ขายก๋วยเตี๋ยวกั้ง และอาหารตามสั่ง เปิดรอบริการให้กับคนในชุมชน และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนชุมชน ก๋วยเตี๋ยวกั้ง กระเพาะกั้ง เป็นเมนูแนะนำ

          ก๋วยเตี๋ยวกั้ง น้ำ แห้ง ต้มยำ มีครบให้เลือกชิมทุกเส้น รวมถึงวุ้นเส้นด้วย ผมสั่งข้าวกระเพาะกั้งมาชิมก่อนหนึ่งจาน ลิ้นได้สัมผัสก้ังสดเนื้อนุ่มผสมน้ำราดกระเพาะ รสเผ็ดร้อนของพริกสวน หอมกลิ่นกระเพาะจนขึ้นจมูก ส่วนก๋วยกั้งต้มยำวุ้นเส้น เนื้อกั้งไม่ต้องพูดถึงใหม่สดจากทะเลอยู่แล้ว น้ำซุปต้มยำเข้มข้น เปรียวนำหอมกลิ่นมานาว อร่อยจนต้องขอบอกเลยว่าห้ามพลาด

                       ชมสาธิตการทำขนมเปียกปูนใบเตย ที่ชุมชนท่องเที่ยวบ้านไม้กูด

              อยากจะเข้าใจวิถีชุมชนอย่างเข้าถึง ก็ต้องมาลองทำ ขนมเปียกปูนใบเตย ที่ชุมชนท่องเที่ยวบ้านไม้กูด กันก่อนครับ ส่วนผสมก็มี แป้งท้าวยายม่อม น้ำใบเตย น้ำปูนใส่ น้ำเปล่า น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว กะทิ งาขาวคั่ว เกลือ วิธีทำ นำแป้งเท้ายายม่อมมาร่อนให้ละเอียด ใส่น้ำเปล่า น้ำใบเตย น้ำปูนใส่ น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว กวนให้เข้ากัน แล้วนำไปตั้งไฟอ่อนๆกวนจนกว่าจะข้นเหนียว

            จากนั้นเอากะทิตั้งไฟอ่อนๆกวนจนกะทิข้นขึ้น โรยเกลือลงไปนิดหน่อยเพื่อให้กะทิรสออกเค็มเล็กน้อย เสร็จแล้วตักขนมเปียกปูนใส่ถ้วยโรยด้วยงาขาวแล้วใส่กะทิลงไป พร้อมเสิร์ฟ เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่ใช้แป้งท้าวยายม่อม 100 % แป้งอย่างอื่นไม่ใช้เลย ทำให้ได้ขนมเปียกปูนนุ่มหอมใบเตย และงา ไม่เหนียวแข็งเกินไป ทานกับกะทิออกเค็มนิดกลมกล่อมกำลังดี

                     มหัศจรรย์หาดทราย 2 สี บ้านไม้รูด

             ชุมชนบ้านไม้รูดมีสถานที่ท่องเที่ยว อยู่ไม่ไกลจากชุมชนอยู่ 2 แห่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน นั่งรถจากชุมชนมาไม่ถึง 10 นาที เดินต่อเข้าไปอีกหน่อยก็มาถึง หาดทราย 2 สี บ้านไม้รูด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มหัสจรรย์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตราด นักท่องเที่ยวที่มาเยือนบ้านไม้รูด ต้องมาเห็นกับตาตนเองให้ได้ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก ที่เวิ้งหาดสองหาดที่อยู่ติดกัน จะมีหาดทรายที่สีไม่เหมือนกัน แบ่งกั้นด้วยเนินหญ้าเตี้ยๆ

            ด้านหนึ่งเป็นหาดทรายขาวละเอียดงามตา สามารถลงเล่นน้ำทะเลได้ ส่วนอีกหาดหนึ่งที่อยู่ติดกันเป็นหาดทรายแดง ผืนทรายหยาบเห็นเม็ดทรายชัดเจน ถัดจากหาดทรายออกเป็นมีโขดหินตั้งอยู่เรียงราย นักท่องเที่ยวไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ที่หาดนี้ และนักท่องเที่ยวจะมานั่งถ่ายรูป เช็คอิน บนโขดหินตรงกลางระหว่าง 2 หาด นับว่าเป็นจุดเช็คอินใหม่ของจังหวัดตราดก็ว่าได้

                 บ่อญวน บ่อน้ำจืดธรรมชาติ ริมหาดบ้านไม้รูด

          เดินต่อมาอีกหน่อยก็มาเจอ บ่อญวน ตั้งอยู่หลังวัดวิสิทธิการาม ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อจากหาดทราย 2 สี ระหว่างทางที่เชื่อมต่อกัน มีต้นสเม็ดขาว เสม็ดแดง ขึ้นอยู่สองข้างทางเดินเท้า ชุมชนก็กำลังจะพัฒนาให้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ว่าด้วยพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคได้

            บ่อน้ำถูกขุดขึ้นโดยเรฟูจีชาวเวียดนาม ที่หนีภัยสงครามและความอดอยาก มาตายเอาดาบหน้า หรือบ้างก็ว่าเส้นทางผ่านของกองกู้ชาติของลุงโฮ ที่มาขึ้นฝั่งหรือแวะพักที่บริเวณหลังวัดวิสิทธิการามแห่งนี้ จึงต้องขุดหาน้ำจืดดื่มเพื่อกินประทังชีวิตกันไป ขุดไปก็ไปเจอตาน้ำจืดที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติริมหาด จึงขุดให้กว้างขึ้น พอชาวญวนไปแล้วชาวบ้านมาเจอ จึงปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของชุมชนบ้านไม้รูด

                     นั่งเรือไปงมหอยถ่านเอามาแกง วิถีชุมชนบ้านไม้รูด

           พอแดดร่มลมตกถึงเวลานัดหมายประมาณสี่โมงเย็น ชุมชนก็มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยว นั่งเรือไปชมป่าโกงที่อุดมสมบรูณ์ตลอด 2 ฝั่งคลอง ต้องแวะงมหอยถ่านที่คนแถวนี้เรียกหอยคั้งด้วย เพื่อเอามาแกงเป็นเมนูมื้อเย็นทานกันที่ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านไม้รูด สวมเสื้อชูชีพเรียบร้อยก็ลงเรือได้ ลำละ 4 – 6 ตามขนาดของเรือ หันหัวเรือเข้าคลองผ่านสะพานคอนกรีตข้ามคลองไม้รูดไป

         พอพ้นเขตชุมชนชาวประมงชายฝั่งไป สองฝั่งคลองก็หนาแน่นไปด้วยป่าโกงกาง ระบบนิเวทยังคงอุดมสมบรูณ์อยู่มาก แสงเย็นก็อ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ลมเย็นๆพัดสวนเรือไปเบาๆ เป็นบรรยากาศที่เหมาะสมกับการล่องเรือชมธรรมชาติเป็นอย่าง

             แล้วก็มาถึงจุดที่จะต้องลงงมหอย เรือมาจอดที่เวิงน้ำจุดที่จะลงงมหอยถ่านกันแล้ว ต้นโกงกาง พันธ็ไม้ป่าชายแลนเขียวแน่นตลอด 2 ฝั่งคลอง น้ำลึกประมาณเอว แค่เอาสวิงช้อนลงไปในพื้นทรายก็ได้หอยถ่านติดสวิงขึ้นมาแล้ว

           นักท่องเที่ยวใครอยากจะลงงมหอยถ่าน ด้วยตนเองก็สามารถทำได้ ถ้าไม่อยากลงงมเจ้าหน้าที่ของชุมชนก็จะลงงมให้ ใต้ท้องน้ำเป็นผืนทราย พี่เขาเอามืองมลงไปในพื้นทรายไม่กี่ฝามือ ก็ได้หอยถ่านติดมือขึ้นมาเป็นกอบเป็นกำ เนื่องจากหอยพอกกับหอยถ่านเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณนี้ งมอยู่สักพักก็ได้หอยถ่านพอเพื่อนำกลับไปแกงเป็นเมนูมื้อเย็นแล้ว

                      สาธิตการทำแกงคั่วหอยถ่าน เมนูมื้อเย็นมาแล้วต้องทาน

            กว่าเรือจะกลับเข้าฝั่งตะวันก็ลับแนวต้นโกงกางไปแล้ว ก่อนมื้อค่ำมีการสาธิตทำเมนู แกงคั่วหอยถ่าน ให้ชมให้ได้ชิมกันด้วย วัตถุดิบก็มี หอยถ่านตัดตูดล้างสะอาด พริกแกง น้ำตาลทราย หัวกะทิ หางกะทิ เกลือ ใบมะกูดฉีก ใบมะกูดซอย วิธีการทำ เอาหัวกะทิตั้งไฟให้เดือดแล้วพริกแกงลงไปเคี่ยวให้กะทิแตกมัน แล้วใส่หอยถ่านลงไปผัดให้พริกแกงเข้าไปตัวหอย จากนั้นเติมหางกะทิลงไปเคี่ยวให้เดือด

              ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำตาลทราย ผัดจนให้เหลือน้ำแกงขลุกขลิก ปิดไฟแล้วใส่ใบมะกูดเพิ่มความหอมลงไป ผัดให้ใบมะกูดเปลี่ยนสี เสร็จแล้วตักใส่ถ้วยโรยด้วยใบมะกูดซอยพร้อมเสิร์ฟ เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่พริกแกงสูตรเฉพาะของชุมชน ให้ความหอมของพริกแกง ได้รสเผ็ดมันออกหวานนิดเค็มหน่อย บวกกับความสดของหอยถ่าน ที่งมขึ้นมาแล้วเอามาแกงเลย จุ๊บดูด จุ๊บดูด จนหมดชาม

             มื้อเย็นที่บ้านไม้รูดยังมีอีกหลายเมนู กั้งลวก ปูนึ่ง ปลาราดพริก ผัดผักรวม น้ำพริกกะปิคั่ว น้ำพริกกั้ง หอยพอกย่าง อร่อยทุกอย่างครับ ทานอาหารค่ำเสร็จแล้วอยากจะนั่งเรือไปชมหิ่งห้อย ทางชุมชนก็พาไปชมได้ ถ้าไม่อยากขับรถกลับไปนอนในเมือง จะนอนค้างที่ชุมชนไม้รูดก็มีโฮมสเตย์ให้พักค้างคืนได้ EP. นั่งเรือไปงมหอยเอาแกง วิถีชุมชนบ้านไม้รูด Delicious Destination @ Trat จบลงที่มื้อเย็น จุ๊บดูด จุ๊บดูด จนหมดชาม แกงหอยถ่านหาทานที่ไหนไม่ได้ ต้องมาทานที่บ้านไม้รูดเท่านั้น