THEWAYNEWS > Travel > In bound > เปิดประสบการณ์ใหม่ นั่งรถไฟ “KIHA 183” เที่ยวเมืองแปดริ้ว

                                 เปิดประสบการณ์ใหม่ นั่งรถไฟ “KIHA 183” เที่ยวเมืองแปดริ้ว

                เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา

           การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) และ บริษัท เมืองไทย ครีเอทีฟ แอนด์ ทัวร์ จำกัด จัดกิจกรรมเปิดประสบการณ์ใหม่ นั่งรถไฟ KIHA เที่ยวเมืองแปดริ้วด้วยการนั่งรถไฟ “KIHA 183” รถดีเซลรางจากเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ขบวนพิเศษนำเที่ยว ปรับปรุงขบวนรถใหม่หมด ทั้งภายนอกและภายใน ความกว้างของราง เครื่องยนต์ ระบบปรับอากาศ จาก รฟท. ไปจังหวัดฉะเชิงเทรา ชมวิวกลางสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำบางปะกง กราบขอพรหลวงพ่อโสธร แวะช้อปตลาดร้อยปี ใน Campaign ล้อ ราง เรือ

        การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับมอบ รถไฟ  “KIHA 183” จาก Hokkaido Railway Company หรือ JR Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรถไฟดีเซลราง ที่เคยให้บริการบนเกาะฮอกไกโดมาก่อน โดยได้รับมาทั้งหมด จำนวน 17 ตู้ เป็นรถรุ่น “KIHA 183” (มีห้องขับ) แบบห้องขับสูงจำนวน 8 ตู้ และแบบห้องขับต่ำจำนวน 1 ตู้ ส่วนรุ่น “KIHA 182” (ไม่มีห้องขับ) มีจำนวน 8 ตู้ แล้วนำมาปรับปรุงฐานล้อ จากขนาด 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1.00 เมตร เท่ากับรางมาตรฐานรถไฟทางไกลของไทย พร้อมซ่อมระบบเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ  พ่นสีใหม่ภายนอก และภายในห้องโดยสาร ให้กลับมาดูใหม่ มีสีสัน เหมือนเพิ่งออกวิ่งใหม่ๆที่เกาะฮอกไกโด เพื่อนำไปใช้เป็นรถขบวนนำเที่ยวพิเศษ ในเส้นทางระยะสั้นไปยังจังหวัดใกล้กรุงเทพมหานคร การซื้อตั๋วขบวนพิเศษนำเที่ยวไปฉะเชิงเทรา ต้องจองทางออนไลน์กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น

        นักท่องเที่ยวทั้งคนไทย คนญี่ปุ่น ชาวต่างชาติ เดินทางมา ลงทะเบียน เช็คอิน ถ่ายรูป กันแต่เช้า รถไฟ “KIHA 183” ขบวนรถพิเศษนำเที่ยว 993 ออกเดินทางจากชานชาลาที่ 5 สถานีหัวลำโพง ไปชุมทางฉะเชิงเทรา ในเวลา 7.40 น. บนรถไฟเสิร์ฟอาหารเช้าสไตล์ญี่ปุ่น “ไทยเบนโตะ”

         กล่องข้าวเบนโตะสามารถเก็บกลับบ้านนำไปใช้ซ้ำได้ด้วย พร้อมเครื่องดื่มชาเขียวคนละหนึ่งขวด เมนูประกอบด้วยหมูย่าง ไก่ชุมแป้งทอดสามรส ไข่ต้ม พร้อมน้ำจิ้มแจ่วรสเด็ด เคียงมากับผักต้ม อร่อยจนลืมเบนโตะดั้งเดิมไปเลย ของหวานเป็นขนมพายมะม่วงน้ำดอกไม้ ชื่อ Kemi ด้วยการรังสรรค์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังมีของที่ระลึกที่แจกให้เป็นพวงกุญแจรถไฟ “KIHA 183” ที่น่าเก็บสะสมเป็นอย่างยิ่ง  

        ผู้โดยสารบนรถไฟ “KIHA 183” มีผู้โดยสารมาประมาณ 200 คน เกือบเต็มทุกที่นั่งทั้ง 4 ขบวน รถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานีหัวลำโพง ไปตามเส้นทางรถไฟสายตะวันออก จอดรับผู้โดยสารเพิ่มเติมที่สถานีหัวหมาก รถไฟวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง

         ฟังเรื่องเล่า (Story Telling) จากมัคคุเทศก์มืออาชีพ เล่าความเป็นมาของขบวนรถไฟ “KIHA 183” ให้ฟังกันเพลินๆ ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 1 ชั่วโมง รถไฟก็มาจอดที่กลางสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำบางปะกง ให้นักท่องเที่ยวลงมา เช็คอิน ถ่ายรูป ชมวิวแม่น้ำบางปะกง บนกลางสะพานรถไฟกันเลยทีเดียว ต้องเป็นรถไฟขบวนนำเที่ยวเท่านั้นถึงจะสามารถจอดให้นักท่องเที่ยวลงมาถ่ายรูปบนกลางสะพานนี้ได้

        สถานีต่อไป ชุมทางฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของทริปนี้ จากจุดชมวิวกลางแม่น้ำปางปะกง รถไฟก็เคลื่อนมาจอดที่สถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา เพื่อมาต่อรถบัสนำนักท่องเที่ยว ไปกราบขอพรหลวงพ่อโสธร และร่วมถวายสังฆทาน พร้อมขอพรจากพระมหาพลพิพัฒน์ ฐิตวีริโย รองเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร ตัวแทนพระราชภาวนาพิธาน เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ในการนี้ท่านได้มอบวัต “เหรียญหลวงพ่อโสธร” เพื่อความเป็นสิริมงคล

        มาถึงพิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย การแสดงรำพื้นเมืองภาคกลาง โขน และรำมวยไทย จากนั้นชิมขนม Kemi ข้าวเหนียวมะม่วงน้ำดอกไม้ จากที่มาเปิดบูธออกร้าน พร้อมบูธสินค้าพื้นเมืองอีกหลายบูธ ปลาสลิดแดดเดียว มะม่วงน้ำดอกไม้ และอื่นๆอีกมากมาย ให้นักท่องเที่ยวมาช้อปเพื่อกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่น

            พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทราจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2560 เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ การปกครอง และวัฒนธรรม รวมทั้งบทบาทของจังหวัดฉะเชิงเทรากับความเป็นชาติไทย โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้คือ หอพระพุทธโสธร ประดิษฐานพระพุทธโสธรจำลอง ส่วนที่ 2 เป็นศาลาทรงงานกลางน้ำ ที่ได้ใช้เป็นที่ทรงงานและรับเสด็จเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จเยือนเมืองฉะเชิงเทรา

           เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2516, ส่วนที่ 3 เป็นตำหนักกรมหมื่นมรุพงษ์ศิริพัฒน์ เป็นที่จัดแสดงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ การปกครอง,เหตุการณ์สำคัญ เรื่องราว ความทรงจำของเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา และความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีต่อเมืองฉะเชิงเทรา และส่วนที่ 4 คืออาคารเรือนรับรอง เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ชั้นล่างใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป

           นักท่องเที่ยวทานมื้อกลางวันที่ร้าน The River BARN ริมแม่น้ำบางปะกง แบบนั่งโต็ะละ 8 คน เสิร์ฟร้อน อาหารออกไว เมนูนำมาด้วย ออเดิร์ฟ ยำคะน้า ยำปลาดุกฟู ไก่ทอด เมนคอร์สประกอบด้วยปลากะพงทอดน้ำปลา แกงส้มยอดมะพร้าวอ่อน ต้มยำทะเล และผลไม้ตามฤดูกาล ปิดท้าย รสชาติออกกลางๆไม่เผ็ดเกินไป นักท่องเที่ยวไทย ญี่ปุ่น ฝรั่ง ทานได้อิ่มอร่อยพอใจอย่างมาก 

          ไปช็อปกันต่อที่ตลาดบ้านใหม่ ตลาดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนส่วนมากเป็นคนไทยเชื้อสายจีน หน้าตลาดมีจุดเช็คอินให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปก่อนเข้าตลาด ตัวตลาดมีทางเดินเข้าสู่ตลาดอยู่ตรงกลาง สองฝั่งเป็นอาคารทำด้วยไม้ทั้งหลัง ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อย่างดีทำให้บรรยากาศแบบย้อนยุคดูน่าค้นหา

            เป็นศูนย์รวมอาหารคาวหวานของเมืองแปดริ้วที่ทานยากแล้วในปัจจุบัน ร้านขายของเล่นเด็ก ร้านกาแฟแป๊ะเอ๊ย  ร้านหมี่กรอบโบราณ ร้านขนมไข่ ร้านขนมตาล ขนมกุยช่าย มะพร้าวแก้ว ขนมกาละแม ที่ร้านขนมหลังบ้าน เดิมข้ามสะพานไปยังมีร้านกาแฟเก๋ๆ Rad cat cafe ให้นั่งจิบกาแฟซิวๆอีกด้วย 

 

 

            เดินทางกันต่อครับไปยังวัดจีนประชาสโมสร หรือวัดเล่งฮกยี่ คนแปดริ้วเรียกว่า “วัดมังกรวาสนา” หรือ “วัดมังกรแห่งโชค” เป็นวัดจีนในพุทธศาสนามหายาน โดยเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งใน 3 วัดที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวมังกร คือ หัวมังกรอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพมหานคร หางมังกรอยู่ที่วัดเล่งฮัวยี่ จังหวัดจันทบุรี และท้องมังกรนั้นอยู่ที่วัดเล่งฮกยี่แห่งนี้

           วัดนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2449 เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรีเพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา พร้อมกับพระราชทานนามว่า “วัดจีนประชาสโมรสร” ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ ท้าวจัตุโลกบาลขนาดใหญ่ 4 องค์ ทำจากกระดาษที่ประตูทางเข้า พระประธาน 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปแบบจีนในลัทธิมหายานคือ พระยูไล้, พระโอนิโทฮุด และพระเอี้ยซือฮุด ซึ่งมีความเชื่อกันว่าสามารถปกปักรักษาโรคภัยไข้เจ็บ พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ทำมาจากกระดาษที่นำมาจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พร้อมๆ กับพระพุทธรูป 18 อรหันต์ข้างวิหารด้านใน ที่ทำด้วยกระดาษเช่นกัน รูปหล่อเทพเจ้าไฉ่เซ่งเอี้ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) ที่อยู่ด้านข้างขององค์พระประธาน ขอพรในด้านสติปัญญา หน้าที่การงาน และสุขภาพ 

               

             หลังขอพรจากเทพเจ้าแล้ว เพื่อให้ครบตามแคมเปน ล้อ ราง เรือ นักท่องเที่ยวก็จะได้ลงเรือล่องไปรอบเกาะลัด สัมผัสธรรมชาติ และสถานที่สำคัญของสองฝั่งแม่น้ำบางปะกง ไม่ว่าจะเป็น อนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บริเวณปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด) พระเจ้าตากสินที่ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา มาปะทะกับพม่าบริเวณปากน้ำโจ้โล้ พระองค์รบชนะพม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่า และได้พักทัพบริเวณนี้ พระองค์จึงสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในการสู้รบกับพม่า นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาสักการะอนุสรณ์หรือนั่งพักผ่อนชมภูมิทัศน์ริมแม่น้ำซึ่งจะสามารถมองเห็นเกาะลัดอยู่ฝั่งตรงข้าม

          ผ่านวัดปากน้ำโจโล้ ชมอุโบสถสีทองหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่งดงามตระการตา ทาสีทองทั้งหลังทั้งภายในหรือหรือภายนอกตัวอุโบสถ  นักท่องเที่ยวสามารถลอดใต้ฐานพระประธานเพื่อความเป็นสิริมงคล ที่วัดนี้ยังมีเรือโบราณในสมัยสมเด็จพระจ้าตากสินตั้งโชว์ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วย

           ปิดท้ายทริปนี้ด้วยการมาขอพร พระพิฆเนศองค์ยืน เรือมาขึ้นฝั่งที่”อุทยานพระพิฆเนศองค์ยืน” คลองเขื่อน ฉะเชิงเทรา เป็นพระพิฆเนศปางยืน ทำจากสำริด ที่องค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำบางปะกง พระหัตถ์ทั้ง 4 นั้นถือ ดอกบัว, มะม่วง, กล้วย, อ้อย และขนุน และที่พระบาทมีหนูกอดลูกมะพร้าว ซึ่งมีความหมาย คือ ความอุดมสมบูรณ์ ใครมากราบขอพรก็จาก “พระพิฆเนศปางยืน องค์สำริด จะสำเร็จ สมปรารถนา”

           ทริป ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ได้นั่งทั้งรถไฟ รถบัส และลงเรือ ได้ทานอาหารเช้าแบบ “ไทยเบนโตะ” และอร่อยกับอาหารกลางวันที่ริมน้ำบางปะกง แล้วยังได้พวงกุญแจรถไฟ “KIHA 183” กลับบ้านด้วย ถือว่าคุ้มสุดๆ นอกจากเส้นทางท่องเที่ยว เปิดประสบการณ์ใหม่ นั่งรถไฟ “KIHA 183” เที่ยวเมืองแปดริ้ว แล้ว ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวด้วยการ นั่งรถไฟ “KIHA 183” ไปยังจังหวัดอื่นด้วย เช่น อยุธยา สระบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี ได้ที่ https://www.railway.co.th