THEWAYNEWS > Hot > 12 ล้านคน สทท. ตั้งเป้านักท่องเที่ยวเข้าไทยภายในปี 2565 เปิดกลยุทธ์ลุย Tourism War Game 

             12 ล้านคน สทท. ตั้งเป้านักท่องเที่ยวเข้าไทยภายในปี 2556 เปิดกลยุทธ์ลุย Tourism War Game

          สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ในไตรมาสที่ 2/2565 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา คาดสิ้นปีมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 12 ล้านคน จึงเร่งออกกลยุทธทุกรูปแบบใน Tourism War Game ต้องฉีดยาแรง Booster Shot ใช้ Hard sell ร่วมกับ Soft Power เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและให้ Soft Loan สร้าง Soft Skill พัฒนา Software / Platform / Big Data เป็นเครื่องมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว นำเงินตราต่างประเทศเข้าไทยโดยตรง กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม GDP โต 3 – 5 %

           นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) พร้อมด้วยนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมโรงแรมไทย นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และที่ปรึกษาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว นายโสพนา บุญสวยขวัญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมรถโดยสารไม่ประจำทาง นายแพทย์สมชัย เจียรนัยศิลป์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการ Wellness Tourism นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธานคณะอนุกรรมการ Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และรองศาสตราจารย์ ผกากรอง เทพรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา ร่วมแถลง

             นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า “ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างสมดุล สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละเดือน  ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในครึ่งปีแรกได้มาถึง 2 ล้านคน ต่อจากนี้ สทท. ขอรับไม้ต่อดันให้ถึง 12 ล้านคนภายในสิ้นปี ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ เพื่อรักษาการจ้างงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน แต่โจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรากำลังต่อสู้กับ 3 สงคราม สงครามแรก คือ สงครามโควิด-19 ที่เรากำลังจะก้าวสู่ชัยชนะ สงครามที่ 2 คือ สงคราม Ukrain-Russia ที่แม้เราจะไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรง แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น ทำให้ราคาน้ำมัน ทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิน ไปจนถึงน้ำมันพืชแพงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น และสงครามที่ 3 คือ สงครามช่วงชิงนักท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเป็น Tourism War Game ที่หลายประเทศเห็นตรงกันว่าการท่องเที่ยวนั้นคือกลไกในการฟื้นประเทศที่ดีที่สุด รวดเร็ว ใช้ทุนน้อย และกระจายรายได้สู่ประชาชนได้มากที่สุด

             จึงเร่งออกกลยุทธทุกรูปแบบมาแข่งกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนั้นเกมนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงต้องผนึกกำลังกันออกแบบเครื่องมือพิเศษแบบ Booster Shot  เช่น กระทรวงวัฒนธรรมมาช่วยเรื่อง Soft Power เติมเสน่ห์ให้กับการท่องเที่ยว กระทรวงการคลังมาช่วยเรื่อง Soft Loan ช่วยเติมทุน กระทรวงแรงงานมาช่วยสร้าง Soft Skill เติมความรู้ กระทรวงดิจิตอลมาช่วยเรื่องพัฒนา Software / Platform / Big Data เติมสมอง ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สทท. นั้นต้องจับมือกันทำ Hard sell เพื่อเติมลูกค้า และนี่คือความท้าทายใหม่ ที่พวกเราทั้งรัฐและเอกชนจะต้องจับมือกันเพื่อที่จะฟื้นไปด้วยกัน”

              นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานสทท. และนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า “ขณะนี้โรงแรมยังมีอัตราการเข้าพักในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ไม่ถึงจุดคุ้มทุน การดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศจึงสำคัญมากในขณะนี้ กระแส Soft Power ในช่วงนี้ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีที่ควรจะสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องอาหารไทย และกีฬาไทย และใช้จุดเด่นนี้ให้เป็นประโยชน์ในการทำการตลาด สร้าง Story และ Content เพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้คิดถึงและเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น เราจำเป็นต้องเติมลูกค้า เพิ่มอัตราการการเข้าพักของโรงแรม เพื่อรักษาการจ้างงาน เพราะตอนนี้ธุรกิจโรงแรมมีค่าใช้จ่ายสูงมากจากทั้งภาษี ดอกเบี้ย ค่าน้ำค่าไฟ และค่าแรงที่สูงขึ้น หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในเรื่อง Soft Loan และการผ่อนผันภาษี​ เช่น​ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โรงแรมจำนวนมากอาจต้องกลับไปปิดกิจการอีกครั้ง”

             นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสทท. และที่ปรึกษาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่า “ตัวเลขนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวในปีนี้เช่น UAE ตุรกี เวียดนาม สิงคโปร์ จะเห็นได้ว่าการปลดล็อกหรือผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศส่งผลในธุรกิจภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นและสามารถกระจายรายได้ให้ประชาชนได้ง่ายที่สุด ปัญหาหลักของ​ Inbound Tourism​ ตอนนี้อยู่ที่​เที่ยวบินขาดแคลน​  ทำให้นักท่องเที่ยวที่สนใจมาประเทศไทยไม่สามารถเดินทางมาได้​ รัฐจึงควรเข้ามาสนับสนุนในเรื่อง​ Charter Flight​ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายและสร้างความมั่นใจให้กับสายการบินในการเพิ่มเที่ยวบินเข้าประเทศไทย”

               นายโสพนา บุญสวยขวัญ รองประธานสทท. และนายกสมาคมรถโดยสารไม่ประจำทาง กล่าวว่า “รถโดยสารนั้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยทำให้มีนักท่องเที่ยวตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวในประเทศ ปัจจุบันรถบัส รถตู้ ยังจอดนิ่งเป็นจำนวนมาก บางส่วนจะยังไม่มีงาน บางส่วนยังไม่สามารถ Restart ได้ เพราะรถยังไม่ปลอดภัยตามมาตรฐาน หากรัฐสนับสนุนเรื่องโครงการเที่ยวด้วยรถทัวร์ เงินกู้ปรับปรุงสภาพรถ และ Co-pay ให้กับรถโดยสารไม่ประจำทางได้ ก็จะปลดล็อคทำให้ภาคขนส่งทางบกเดินหน้าได้และเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังกลับมาได้”

              นายแพทย์สมชัย เจียรนัยศิลป์ รองประธานสทท. และประธานคณะอนุกรรมการ Wellness Tourism กล่าวว่า รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีจุดประสงค์ เดินทางมาไทยเพื่อเข้ามาทำการผ่าตัดหรือรักษาโรค ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว ดังนั้น Thailand Medical Hub เป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องผลักดันโดยเฉพาะการผลิตบุคลากรฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ส่งเสริมงานวิจัยต่างๆเพื่อให้ไทยสามารถสร้างผลิตภัณฑ์การแพทย์แบบไทยที่มีความโดดเด่นแตกต่าง ส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI ออกนโยบายส่งเสริมวีซ่าแบบระยะยาว 10 ปี (Long-Stay Visa) ให้แก่ชาวต่างชาติ เพื่อร่วมกันต่อยอดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์คุณภาพของภูมิภาคอย่างยั่งยืนได้เร็วขึ้น

              นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธานคณะอนุกรรมการ Smart Tourism สทท.  กล่าวว่า “ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วม 3 กิจกรรมใหญ่ของวงการท่องเที่ยว ทั้งงานประชุมใหญ่ TFOPTA ที่ชัยนาท งาน TTC 2022 ที่ภูเก็ต และงานประชุม 6 หน่วยงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมรวมมากกว่า 1,000 ราย ทั้ง 3 งานมีการระดมสมอง แบบ Tourism Hackathon นำแนวคิดของทั้ง​ 3​ งานมาสรุปเป็น​ นโยบาย​ Hard​ Sell​ เพื่อชนะสงครามแย่งชิงนักท่องเที่ยวได้ดังนี้  A) Airline ปัญหาขาดแคลนไฟลท์บินและบุคลากรทางการบิน ขอเสนอให้เติมลูกค้า แบบ Joint Promotion คล้ายกับเราเที่ยวด้วยกัน แต่นักท่องเที่ยวควรจองสายการบินได้อย่างอิสระไม่ต้องจองโรงแรมก่อน  B) Bus & Boat รถเรือไม่พร้อมให้บริการ ขอเสนอให้เติมลูกค้า แบบ Joint Promotion คล้ายกับทัวร์เที่ยวไทย โดยให้บริษัทนำเที่ยวเป็นคนออกแบบเส้นทางแบบอิสระตามรูปแบบการท่องเที่ยวยุคใหม่ C) Content ขาดคอนเทนต์ในการนำเสนอลูกค้า ขอเสนอให้เติมความรู้ให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ นักศึกษา เพื่อร่วมกันสร้าง Digital Content บน Social Media และเตรียมความพร้อมสู่ Metaverse Tourism  D) Digital Disruption

            ขอเสนอให้มีการเติมทุนและเติมความรู้ สนับสนุนให้มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อการตลาด การบริหาร และการบริการลูกค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน E) Entertainment ขอเสนอให้มีการเติมลูกค้า โดยการทำ Alcohol Zoning เพื่อเปิดให้บริการด้าน Entertainment ได้นานขึ้นตอบโจทย์ Life Style กลุ่ม Workation และ Digital Nomad  F) Finance ขาดเงินหมุนเวียนอย่างหนัก ต้องมีการเติมทุน ReDesign นโยบาย Soft Loan ให้ตอบโจทย์และเข้าถึงได้ G) Gasoline & Energy Cost พลังงานแพง ขอเสนอให้มีการลดค่าใช้จ่าย โดยตรึงราคาพลังงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นและไม่ให้ภาคขนส่งหยุดดำเนินการ   H) Hotel โรงแรมส่วนใหญ่ Occupancy Rate ต่ำ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่ได้รับผลบวกจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ขอให้มีนโยบายเติมลูกค้าสำหรับโรงแรมกลุ่มนี้ในลักษณะ Joint Promotion กัน หรือ เที่ยวคนละครึ่ง  I) Incentive for Digital Nomad / Workation กลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูงและเที่ยววันธรรมดา ขอเสนอให้มีการเติมลูกค้า โดยออกนโยบายพิเศษเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้าประเทศ เช่น Visa หรือ ภาษี”

             12 ล้านคน สทท. ตั้งเป้านักท่องเที่ยวเข้าไทยภายในปี 2565 เปิดกลยุทธ์ลุย Tourism War Game แถลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ห้องดวงกมล โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร