THEWAYNEWS > Travel > In bound > “นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี”

                นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี

         เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา

        การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบุรี สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) จัดกิจกรรม เปิดประสบการณ์ใหม่นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรีนั่งรถไฟดีเซลรางจากเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ขบวนพิเศษนำเที่ยว ไปปล่อยลูกปูม้า ที่หาดทรายเม็ดแรก เยี่ยมชม ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยธรรมชาติ เดินเทรลศึกษาธรรมชาติป่าโกงกาง ที่โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฟังการบรรยายการทำนาเกลือ ที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และแวะช้อปซื้อของฝากที่ โรงานลุงเอนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ 

         คุณศุภมาศ ปลื้มสกุล หัวหน้ากองโฆษณาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี พร้อมด้วย นางทนาดา วิจักขณะ รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี (ททท.) นายนัทธพงศ์ วิบูลรังสรรค์ หัวหน้ากลุ่มงานกีฬา และนันทนาการ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบุรี และนายกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย(สธทท.) ร่วมกับนักท่องเที่ยวจำนวน 200 คน 2 วัน รวม 400 คน ทำกิจกรรม ปล่อยลูกปูม้า ที่หาดชายเม็ดแรก แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี

        คุณศุภมาศ ปลื้มสกุล หัวหน้ากองโฆษณาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า “โครงการท่องเที่ยวด้วย รถไฟขบวนพิเศษ KIHA 183 นี้เป็นดำริของท่าน นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรท่องเที่ยวต่างๆ กับรฟท. ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด (ทกจ.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย(สธทท.) และท่องเที่ยวโดยชุมชนต่างๆ อยากเห็นการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชนด้วย

        ประกอบกับเราได้รับ รถไฟ KIHA 183 จากเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น มา 17 ตู้ 4 ขบวน มีเสียงออกมาว่าเอามาทำไม ซ่อมไม่คุ้ม แล้วก็ไม่รู้ว่าจะวิ่งได้หรือเปล่า ขนาดรางก็ไม่เท่ากัน แต่รฟท. ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า รถไฟ KIHA 183 ยังสามารถใช้งานได้ ตอนนี้ซ่อมเสร็จแล้ว 1 ขบวน เราก็นำมาวิ่งเป็นรถขบวนพิเศษนำเที่ยว เฉพาะวันเสาร์ และอาทิตย์ แบบ One day trip ไปเช้าเย็นกลับ บางทริปก็เป็นแบบค้างคืน 1 คืน 2 วัน เฉพาะวันเสาร์ และอาทิตย์เช่นกัน โดยในแต่ละเดือนเราจะมี Concept ที่แตกต่างกันไป ในเดือนกรกฎาคมนี้ เราใช้ สืบสาน รักษา ต่อยอด ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เราจะไปก็จะเป็น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือชุมชนที่เดินรอยตามศาสตร์พระราชา

       อย่างวันนี้เราใช้ชื่อทริปว่า นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี  เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้า นักท่องเที่ยวร่วมกันทำกิจกรรมปล่อยลูกปูม้า ที่หาดทรายเม็ดแรก เสร็จเยี่ยมชม ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยธรรมชาติ เดินเทรลศึกษาป่าโกงกาง ที่โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อด้วยฟังการบรรยายการทำนาเกลือ ที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และแวะช้อปซื้อของฝากที่ โรงานลุงเอนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์

       เรามีขบวนรถไฟนำเที่ยวในวันเสาร์ และอาทิตย์ โดยเฉพาะขบวนนำเที่ยวด้วย รถไฟ KIHA 183 ที่นำเข้ามา จากเกาะฮอกไกโด ซึ่งเรายังคงกลิ่นอายแบบญี่ปุ่นอยู่ครบทั้งขบวน ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่าย ในแต่ละเดือนก็มี Concept ที่แตกต่างกันไป มีทั้งแบบไปเช้าเย็นกลับ และแบบค้างคืน ไปตามจังหวัดต่างๆที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก อยากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยว มาสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวโดยรถไฟแบบใหม่ๆไปด้วยกันเราค่ะ”

        นักท่องเที่ยวมาลงทะเบียนวันนี้ทั้ง 200 คน เต็มทุกที่นั่ง รับป้ายคล้องคอพร้อมเลขที่นั่ง จากนั้นรับเครื่องดื่มร้อน ถ่ายรูปเช็คอินกับขบวนรถไฟ KIHA 183 เวลา 6.50 นาฬิกา ได้เวลา รถไฟ KIHA 183 ออกสถานีหัวลำโพง

      ทุกคนนั่งตามหมายเลขที่นั่งตามป้ายคล้องคอ ขบวน รถไฟ KIHA 183 เคลื่อนตัวออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงตามเวลา สักพัก Staff เดินบริการแจกข้าวกล่องแบบ ไทยเบนโตะ ชาเขียว และขนมพายมะม่วงน้ำดอกไม้ ชื่อ Kiha และKemi  ด้วยการรังสรรค์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา

         รถไฟ KIHA 183 เดินทางมาถึงสถานีรถไฟเพชรบุรี ประมาณ 10.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องมาขึ้นรถบัสที่ทางการรถไฟ จัดเตรียมไว้ให้ทั้งหมด 5 คัน ขึ้นรถตามสีของป้ายคล้องคอที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อเดินทางไปยังหาดทรายเม็ดแรกเพื่อทำกิจกรรมปล่อยลูกปูม้า

        วิทยากรบรรยาเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า ของธนาคารปูม้า วิสาหกิจชุมชนแหลมผักเบี้ย ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะแยกย้ายกันไปทำกิจกรรมปล่อยลูกปูม้า ที่หาดชายเม็ดแรก เป็นหาดแรกของจังหว้ดเพชรบุรี ที่เชื่อมต่อมาจากหาดที่มีโคลนผสมอยู่ ปล่อยปูเสร็จก็ต้องถ่ายรูปเช็คอินกันด้วยไหนๆก็มาถึงแล้ว

       มาถึงเวลาอาหารกลางวันกันแล้ว วันนี้เป็นอาหารทะเล Set menu แบบจัดเต็ม ที่ธนาคารปูม้า วิสาหกิจชุมชนแหลมผักเบี้ย นั่งโต๊ะละ 8 คน เมนูประกอบไปด้วย ออร์เดิร์ฟ สาหร่ายพวงองุ่นยำมะม่วง ชะคราม กระทิสด น้ำพริกตาแดง เมนคอร์สนำมาด้วยปลากระพงทอดน้ำปลา ปูม้านึ่ง แบบแกะมาให้เรียบร้อยพร้อมทาน ต้มยำปลากระพง และไข่เจียว ปิดด้วยของหวาน ลูกตาลน้ำเชื่อมแช่เย็น

        ช่วงบ่ายไปชม โครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้ารับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมา ในห้องประชุม พร้อมรับชมวิดีทัศน์ ความเป็นมา และหน้าที่ของโครงการ

        จากนั้นนักท่องเที่ยวนักรถราง ชมแปลงระบบบำบัดน้ำเสียด้วยธรรมชาติ จากแสงแดด สายลม สาหร่าย พืชชนิดต่างๆ มีทั้งหมด 6 สถานี รถรางจะวนรอบรับส่งนักท่องเที่ยวไปทุกสถานี

        สถานีที่ 9 เป็นการเดินเทรลศึกษาธรรมชาติป่าโกงกาง ระยะทางไปกลับ 1.6 กิโลเมตร ตรงช่วงเทรล 800 เมตร จะมีหอสูงให้ขึ้นไปชมป่าโกงกางในมุมสูงได้ และไฮล์ของเทรลนี้ที่ปลายสุดของเทรลจะมีศาลาริมทะเล 2 หลัง ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป เช็คอิน ด้วยความสดชื่น สวยงาม

          เสร็จแล้วก็มาที่ ฟาร์มทะเลตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รับเบรคขนมเครื่องดื่มเย็น พร้อมฟังบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่โครงการฯ

          วิธีการทำนาเกลือ นักท่องเที่ยวร่วมทำกิจกรรม สาธิตการทำตะแกรงเพาะพันธุ์สาหร่ายพวงองุ่น ชมบ่อทดลองเพาะพันธุ์ ปลาทู ปลามังกร เป็นต้น

      ปิดท้ายก่อนขึ้นรถไฟกลับ แวะให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อของฝากกลับบ้าน ที่โรงานลุงเอนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ เป็นร้านที่มีชื่อเสียงและราคามีเหตุมีผล เรื่องขนมของฝากเมืองเพชร มีทั้งขายปลีก ขายส่ง โดยเฉพาะขนมหมอแกงถ้วยคัพเค้ก ที่ผลิตเป็นเจ้าแรกของเพชรบุรี นักท่องเที่ยวซื้อกลับยกเป็นลังๆ กันเลยที่เดียว

            “นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1- 2 กรกฎาคม 2566