THEWAYNEWS > Travel > In bound > “นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ โครงการพระราชดำริ ฉะเชิงเทรา”

                นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ โครงการพระราชดำริ ฉะเชิงเทรา

                เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา สำนักข่าวท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม

        การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) จัดกิจกรรมนั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ โครงการพระราชดำริ  ฉะเชิงเทราชิมน้ำมะพร้าวน้ำหอม ดื่มกาฟ พายเรือ ในสวนมะพร้าวลุงแดง เยี่ยมชม ร่วมกิจกรรม ทำเทียนหอม พิมเสนน้ำ ทำลิปบาล์ม สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ แวะช้อปที่ตลาดบางกระเจ็ด   

     

         นางสาวนันทิกานต์ ยาพิลา เจ้าหน้าเฉพาะงาน สำนักงานผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายไตรภพ โคตรวงษา รองผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และนายกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย(สธทท.) ร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยว นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ โครงการพระราชดำริ  ฉะเชิงเทรา

               แวะชมวิวกลางสะพานบางปะกง

        นักท่องเที่ยวลงทะเบียนที่สถานีกรุงเทพทั้งหมด 200 คน เต็มทุกที่นั่ง รับป้ายคล้องคอ ดื่มเครื่องดื่มร้อน เช็คอินถ่ายรูปรถไฟ แล้ว 7.40 น. ได้เวลา รถไฟ KIHA 183 ออกเดินทาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.30 ชม. ก็แวะกลางสะพานแม่น้ำบางปะกง ให้ได้ลงถ่ายภาพชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม 2 แม่น้ำ

             ต่อรถบัสที่สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา

       รถไฟ KIHA 183 เข้าเทียบท่าที่สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา เวลา 9.40 น. นักท่องเที่ยวลงจากรถไฟแล้วแวะถ่ายรูปที่จุดเช็คอินของสถานีรถไฟที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปกัน เสร็จแล้วก็เดินไปขึ้นรถบัสจำนวน 5 คัน ที่จอดรอรับอยู่ที่หน้าสถานรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา

             จิบกาแฟดื่มน้ำมะพร้าวที่สวนลุงแดง

       นักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงทางเข้าสวนลุงแดง ต้องมาต่อรถสองแถวอีกที เพราะถนนทางเข้าสวนลุงแดงแคบรถบัสเข้าไม่ได้ นักท่องเที่ยวทยอยกันขึ้นรถคันละ 10 คน ถึงหน้าสวนลุงแดงลงจากรถแล้วถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึกกันก่อน เดินเข้าไปในสวนรับน้ำมะพร้าวอ่อน ที่สวนลุงแดงคัดมาแล้วอย่างดี น้ำไม่หวาน มีรสเปรี้ยวหรือเนื้อมะพร้าวอ่อนทุกลูก กันคนละลูก ลูกไหนน้ำไม่หวานเปลี่ยนลูกใหม่ได้ ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนหวานชื่นใจแล้ว ยังให้เจ้าหน้าที่ผ่าลูกมะพร้าวกินเนื้อมะพร้าวอ่อนได้ด้วย

        ภายในสวนลุงแดงมีจุดเช็คอยู่หลายจุดเหมือนกัน ศาลาริมร่องสวน สะพานแดงข้ามล่องสวน แคร่นั่งเล่นริมร่องสวน หรือจะพายเรือไม้เล่นในร่องสวนก็มีให้พาย ถ้าใครไม่ทำกิจกรรมในสวนก็ก็ไปจิบกาแฟมามะพร้าวกันต่อที่ คาเฟ่สวนลุงแดงกันต่อ มีนมสดมะพร้าวอ่อน พุดดิ่งมะพร้าว ให้เลือกสั่งทานอีกด้วย

                    ทานมื้อกลางวันที่ร้านร่มไม้สายธาร

        มื้อกลางวันทางการรถไฟจัดให้ที่ร้านร่มไม้สายธาร ซึ่งเป็นร้านค้าชุมชน นักท่องเที่ยวนั่งทานโต๊ะละ 8 คน เมนูวันนี้เป็นแบบเซ็ตเมนู เริ่มต้นด้วยออเดิร์ฟ ยำสามกรอบ ต้มยำทะเลน้ำใส น้ำพริกตาแดงปลาป่น ไข่ตุ๋น ตามมาด้วยเมนคอร์ส ต้มยำทะเลน้ำใส ปลาหมึกผัดผงกะหรี่ ปลากะพงทอดน้ำปลา ยำสามกรอบ ผัดฉ่าปลากะพง ของหวานเป็นผลไม้ตามฤดูกาล อาหารอร่อยทุกเมนู

          เยี่ยมชมโครงการพระราชดำริ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

     ช่วงบ่ายนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมที่ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ตามโครงการพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาถึงก็ถ่ายรูปหมู่กันที่หน้าตึกกันก่อน เสร็จแล้วเข้าห้องประชุมฟังการบรรยายความเป็นมาของโครงการฯ ที่มีหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9

                 ฐาน 1 กิจกรรม ทำเทียนหอม

         จากนั้นนักท่องเที่ยวแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เพราะทางสถาบันมีกิจกรรมให้ทำ 3 ฐาน ฐานแรกเป็นทำเทียมหอมจากไขถั่วเเหลือง นักท่องเที่ยวช่วยกันต้มไขถั่วเหลืองให้เป็นน้ำก่อนเสร็จแล้วเติมน้ำหอมลงไป จากนั้นก็หยอดน้ำเที่ยนลงไปในแก้วที่เตรียมใส่ใส่เทียนไว้แล้ว ทำเสร็จก็เอากลับบ้านได้เลย

                ฐาน 2 กิจกรรม พิมเสนน้ำ

    ฐานที่ 2 เป็นกิจกรรมทำพิมเสนน้ำ มีส่วนประกอบ 6 ชนิด พิเสน การบูร เมนทอล น้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันเปปเปอร์มิ้น และน้ำมันสมุนไพร วิธีทำเริ่มจาก พิเสน การบูร เมนทอล และน้ำมันยูคาลิปตัส ใส่ลงไปในแก้วก่อนแลัวค้นให้เข้ากัน จากนั้นเดิม น้ำมันเปปเปอร์มิ้น และน้ำมันสมุนไพร เพิ่มลงไปแล้วก็คนให้เข้ากันอีกที เสร็จแล้วเทใส่ขวดนำกลับบ้าน ติดกระเป๋าไว้แก้วิงเวียนหน้ามืดตาลายได้

                 ฐาน 3 กิจกรรม ลิปบาล์ม

         ปิดท้ายด้วยฐาน 3 ทำลิปบาล์ม มีส่วนประกอบ 5 ชนิด ขี้ผึ้ง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก และไขมันแข็งตัว วิธีทำเอาน้ำใส่กระทะก่อนอย่าเพิ่งเปิดไฟ จากนั้นใส่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก และขี้ผึ้ง ลงไปก่อน จากนั้นใส่ไขมันแข็งตัวลงไป เปิดให้เตาไฟอ่อน คนให้เข้ากันระวังอย่าให้ไหม้ จากนั้นเทใส่ตลับที่เตรียมไว้ เอากลับบ้านได้อีกเหมือนกัน

                   กราบหลวงพ่อสามพี่น้อง ที่วัดบางกระเจ็ด

         วัดบางกระเจ็ดตั้งอยู่ที่ ตำบลบางกระเจ็ด อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นเมื่อ วัดบางกระเจ็ดเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2447 โดยมีคนในท้องถิ่นถวายที่ดินให้วัด ปัจจุบันมี พระครูสุพัฒนพิมล (สนชัย ฐิตาจาโร) เป็นเจ้าอาวาส

          ภายในอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อชินวงศ์ หรือหลวงพ่อขาว พระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 50 นิ้ว พระพักตร์งดงาม และที่ศาลาริมแม่น้ำบางประกงติดกับตลาดบางกระเจ็ด ยังมีหลวงพ่อสามพี่น้องจำลอง ประกอบด้วยหลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน ให้นักท่องเที่ยวได้กราบขอพรอีกจุดหนึ่งด้วย        

                แวะช้อปของฝากที่ตลาดบางกระเจ็ด

      ก่อนกลับแวะช้อปซื้อของฝากที่ตลาดบางกระเจ็ดกันก่อน ตลาดตั้งอยู่หลังวัดบางกระเจ็ด ติดแม่น้ำบางประกง ไฮไลท์ของตลาดนี้ก็คือท่านเจ้าอาวาส ได้นำเรือมาดโบราณอายุกว่าร้อยปี ที่ไ้รับบริจากจากชาวบ้านกว่า 100 ลำ นำมาทำเป็นโต๊ะให้นักท่องเที่ยวได้นั่งทาน มีทั้งลำเล็กและลำใหญ่ บางลำทำโต๊ะใหญ่นั่งได้ถึง 12 นั่ง สินค้าก็มีหลากหลาย สินค้าเกษตรที่ชาวบ้านปลูกเอง อาหารคาวหวานฝีมือรสชาติท้องถิ่นแท้ หาท่านได้ที่นี่ที่เดียว

      พระครูสุพัฒนพิมล (สนชัย ฐิตาจาโร) เจ้าอาวาสวัดบางกระเจ็ด เล่าให้ฟังว่า “ตลาดเปิดมาแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 เพื่อให้ชาวบ้านนำของชุมชนมาขาย แบบฟรีๆไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวชุมชนจะได้เข้มแข็ง และจุดเด่นของตลาดนี้อาตมาได้รับบริจาค เรือมาดโบราณอายุกว่าร้อยปี จากชาวบ้านสองฝั่งน้ำในละแวกนี้ ส่วนมาอาชีพทำการเกษตร บางส่วนก็มีฝีมือในการอาหารหวานคาว ให้ความร่วมมือเป็นอย่าง บริจาคเรือมาดที่เขาไม่ใช้แล้วมาให้ร้อยกว่าลำ อาตมาก็เอามาทำโต๊ะ ให้นักท่องเที่ยวนั่งทานอาหารกัน

         ต้องขอขอบคุณการรถไฟแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย ที่นำคณะนักท่องเที่ยวมาแวะซื้อของฝากที่ตลาด สุดท้ายก็อยากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยว แวะมาเที่ยวช่วยอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นกันเยอะๆ มีดนตรีให้ฟังด้วย อาหารอร่อยดนตรีเพราะนะ ตลาดเปิดทุกเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เจริญพร”

        นั่งรถไฟ KIHA 183 สืบสาน รักษา ต่อยอด @ โครงการพระราชดำริ ฉะเชิงเทรา” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2566 สามารถติดตามข่าวสาร จองทริปต่อไปของรถไฟ KIHA และสามารถโหลดรูปในทริปนี้ ได้ทางเพจ Feacbook ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย