THEWAYNEWS > Travel > In bound >  EP. “ชุมชนย่านเมืองเก่า ริมแม่น้ำเพชรบุรี” หอมกลิ่นตาล เครื่องคาวหวาน เมืองเพชร Delicious Destination @ Phetchaburi

             EP. “ชุมชนย่านเมืองเก่า ริมแม่น้ำเพชรบุรีหอมกลิ่นตาล เครื่องคาวหวาน เมืองเพชร Delicious Destination @ Phetchaburi

          เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา

              ชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี

        จากชุมชนรอบๆเขื่อนแก่งกระจานเข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี ใน EP. “ชุมชนย่านเมืองเก่า ริมแม่น้ำเพชรบุรีชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี เป็นชุมชนเก่าตั้งอยู่ 2 ฝั่ง ริมแม่น้ำเพชรบุรี ประกอบด้วย 3 ชุมชน ชุมคลองกระแชง ชุมชนตลาดริมน้ำเพชรบุรี และชุมชนวัดเกาะ ทั้ง 3 ชุมชน มีความโดดเด่นต่างกันไป ทั้งด้านวิถีชีวิต เรื่องเล่าของคนในชุมชน ศิลปวัฒนธรรม วัดวาอารามเก่าแก่ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ Walking Street อาหารอร่อย จุดเช็คอินถ่ายรูป และมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมมากมาย

                 วัดพลับพลาชัย วัดเก่ากลางเมืองเพชรบุรี

        เช้าวันนี้เราจะไปเรียนรู้วิถีชุมชนกันที่ ชุมชนย่านเมืองเก่า ริมแม่น้ำเพชรบุรี มาที่ ถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนคลองกระแชง ก่อนเป็นชุมชนแรก โดยเริ่มต้นกันที่ วัดพลับพลาชัย อยู่ที่ถนนดำเนินเกษม ตำบล คลองกระแซง อำเภอเมืองเพชรบุรี เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นราวตอนปลายสมัยอยุธยา ในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยบรรดาขุนนางพ่อค้าคหบดีและประชาชน รวมทุนกันสร้างขึ้น

        เนื่องจากมีถนนดำเนินเกษมผ่านกลางวัด ทำให้วัดแยกออกเป็นเขตพุทธวาส และเขตสังฆ์วาส วัดนี้เคยเป็นแหล่งรวมความเป็นเลิศ ด้านงานปูนปั้น การแกะสลักลวดลายอันวิจิตบรรจง ตามหน้าบัน  บานหน้าต่าง ประตู ของพระอุโบสถ ที่มีความสวยงามของสกุลช่างเมืองเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2458 วัดโดนไฟไห้ม ถาวรวัตถุถูกไฟไหม้หมด หลงเหลือวิหารพระคันธารราฐ อยู่เพียงหลังเดียว

              พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดพลับพลายชัย

         การแสดงหนังใหญ่ หรือการแสดงคนเล่นเงา มีหลักฐานปรากฏมากว่า 2,000 ปี เริ่มตั้งแต่ยุโรป อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนประเทศไทยนั้นมีบันทึกในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้จัดให้มีมหรสพสมโภชในงานลอยโคม หรืองานขึ้นปีใหม่ จัดการแสดงหนังขึ้น 2 โรง ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาหลวงพ่อฤทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัยในสมัยนั้น เป็นผู้ฟื้นฟูก่อตั้งคณะหนังใหญ่วัดพลับพลาชัยขึ้นมา จนมีชื่อเสียงอย่างมากในสมัยนั้น และได้เล่นถวายในหลวงรัชกาลที่ 5 ด้วย

         วิหารพระคันธารราฐ ก็คือพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลายชัย ในวิหารประดิษฐาน รูปจำลองของหลวงพ่อฤทธิ์ หลวงพ่อกร อดีตเจ้าอาวาสของวัด หลวงพ่อฤทธิ์ และจัดเก็บรวบตัวหนังใหญ่ไว้ที่นี่เกือบทั้งหมด ตัวหนังจะแยกระหว่างหนังจับ กับหนังเดี่ยว ถูกจัดแสดงใส่ไว้ในกรอบ มีไฟส่องสว่างให้เห็นลวดลายของตัวหนังอย่างชัดเจน มาดูตอนคำ่ๆแสงไฟทำให้ตัวหนังโดดเด่นสวยงาม

        พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่มี 2 ฝั่ง นอกจากที่ วิหารพระคันธารราฐ แล้วยังมีเรือนไทย 2 ชั้น อยู่ตรงข้ามวิหาร ชั้นล่างเป็นที่ตอนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน ท่องเที่ยวโดย ชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี ให้การต้อนรับคณะเราด้วย ขนมหวานเมืองเพชรจัดมาเต็ม ทองหยิบ ทองหยด ฝอยทอง มาครบ จิ้มขนมทานไปด้วยรับการฟังการบรรยาย ประวัติความเป็นมาของเมืองเพชรบุรี ชิมจนครบทุกอย่างก็ฟังประวัติเมืองเพชรจบพอดี

        ส่วนชั้น 2 มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การเชิดหนังใหญ่ มีการสาธิตการเชิดหนังใหญให้นักท่องเที่ยวได้ชม ใครอยากถ่ายรูปตอนตนกำลังเชิดหนังใหญ่ก็ได้ นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมตอกกระดาษลายหนังใหญ่ ตอกเสร็จทางชุมชนเขาเตรียมกรอบไว้ให้ใส่ เก็บกลับบ้านเอาไปเป็นที่ระลึกได้

            ลานสุนทรภู่ ริมแม่น้ำเพชรบุรี  

        ออกจากพิพิธภัณฑ์วัดพลับพลาชัย ข้ามถนนเส้นเล็กๆ ริมแม่น้ำเพชรมาที่ ลานสุนทรภู่ เป็นลานกว้างริมแม่น้ำเพชรบุรี ในอดีตเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าของคนในชุมชน มีรูปปั้นของ สุนทรภู่ ตั้งอยู่ ย้อนอดีตไปสุนทรภู่ได้มาขึ้นเรือที่ท่านี้ และได้เขียนบทประพันธ์นิราศเมืองเพชร ทิ้งไว้เป็นหลักฐาน ให้ชนรุ่นหลังได้รู้ถึงบรรยากาศของชุมชนริมน้ำเพชรบุรี ในตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร ยังมีพลับพลาที่ประทับของกษัตริย์เสด็จมาทางชลมารค ก็ปรากฏหลักฐานอยู่ในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ด้วย

             ถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนคลองกระแชง

       เริ่มเข้าสู่ ถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนคลองกระแชง มาแวะคุยกับคุณยายอดีตสาวยาคูคนแรกของเมืองเพชรบุรี เมื่อก่อนใช้ขี่จักรยานส่งยาคู ไม่ใช้มอเตอร์ไซค์เหมือนในปัจจุบัน ขอเข้าไปในถ่ายรูปคุณยายกับจักรยานคู่ใจ ที่คุณยายยังเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี ก็ยืนโพสต์ท่าให้ถ่ายรูปจนพอใจ คุณยายใจดีมากผมกลับออกมายังเดินมาส่งถึงหน้าบ้านเลยครับ

        บ้านเล่าเรื่องหนังเก่า มิตร ชัยบัญชา

          ถัดมาหน่อยก็มาถึง บ้านเล่าเรื่องหนังเก่า มิตร ชัยบัญชา คุณลุงสนั่น มีความความชื่นชอบ มิตร ชัยบัญชา เป็นอย่างมาก จึงได้เก็บสะสมภาพต่างๆที่เกี่ยวกับ มิตร ชัยบัญชา ไว้มากมาย แล้วรู้เรื่องเกี่ยวประวัติ เรื่องราวความเป็นของ มิตร ชัยบัญชา นักท่องเที่ยวอยากรู้เรื่องเกี่ยว มิตร ตอนไหน แสดงหนัง เรื่องอะไรบ้าง แก่ก็เล่าให้ฟังได้หมด

       ภายในเรือนแถวหลังหัวมุม บ้านเล่าเรื่องหนังเก่า มิตร ชัยบัญชา ยังเป็นโรงหนังขนาดย่อม ฉายหนังเก่าของ มิตร ชัยบัญชาให้นักท่องเที่ยวดูได้ถ้าต้องการ นอกจากยังมีรูปของมิตร และโปสเตอร์หนังที่มิตรแสดง ติดอยู่เต็มผนังห้องทั้ง 4 ด้าน ด้านนอกของตัวบ้านเขียนรูป มิตร ชัยบัญชา สวมชุดอินทรีแดง ที่แสดงเป็นเรื่องสุดท้าย ก่อนเสียชีวิตตกจากเฮลิคอปเตอร์ขณะทำการแสดง เป็นจุดเช็คอินให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปกัน

               Street Art ตลาดเก่าริมน้ำเพชรบุรี

    เดินออกจาก ถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนคลองกระแชง ผ่านร้านเครื่องยาจีน ข้ามสะพานใหญ่มา เพื่อที่จะไปดู Street Art  ที่อยู่ในตรอกทางเข้า ตลาดเก่าริมน้ำเพชรบุรี ภายในตรอกมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ร้านขายของชำ อยู่ทั้งสองฝั่ง บ้านตั้งสวัสดิรัตน์ เป็นร้านเรียนรู้ชุมชนตลาดริมน้ำเพชร ร้านขายขนมเปี๊ยะรพีพร ขายขนมเปี๊ยะหลายขนาดมีทั้งเล็กทั้งใหญ่ทำกันสดๆร้อนๆออกจากเตากันเลยทีเดียว ร้านขายขนมหวานก็มีให้ชิมกันไปตลอดทาง

         ภาพ Street Art มีหลายรูปหลากหลาย ภาพ Melody King ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภาพ หมากาไก่นก ภาพ แมวจมูกดำ ซึ่งมียังมีชีวิตอยู่ และก็อาศัยอยู่บริเวณนั้นด้วย ภาพ หมู่มวลผีเสื้อ ให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเช็คอินกันอยู่หลายจุดเหมือนกัน ภาพ ปู่เย็น คนเมืองเพชรผู้ยิ่งยง ก็ถูกเขียนอยู่บนผนังตึกเหมือนกัน และที่เป็นไฮไลท์ก็คือ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่บนผนังตึกก่อนทางออกของตรอก ตลาดเก่าริมน้ำเพชรบุรี

                ข้าวแช่ แม่อร สูตรคุณยาย

        เดินผ่ามา 2 ชุมชนแล้ว มาพักทาน  ข้าวแช่ แม่อร สูตรคุณยาย ให้คลายเหนื่อกันหน่อย ร้านก็อยู่ในตรอกตลาดริมน้ำนั้นแหละ ขายมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 เป็นสูตรที่ตกทอดมาจากคุณยายของแม่อร เพราะช่วยคุณยายขายมาตั้งแต่เด็กๆ จึงได้รับสูตรจากคุณยายมาเต็มๆ และขายมาจนถึงทุกวันนี้

         เคล็ดลับความอร่อยของข้าวแช่ก็คือ ต้องใช้ความเอาใส่ใจในทุกขั้นตอน ใช้ข้าวพันธุ์ดี เมล็ดเรียวสวยยาวขาวไม่แตกหัก ร่วน แต่นุ่ม หุงข้าวไม่ให้แข็งเกินไป ส่วนน้ำข้าวแช่นั้นใช้น้ำดอกมะลิอบควันเทียน ลอยดอกกระดังงาเพิ่มความหอมชื่นใจ สำหรับเครื่องเคียงข้าวแช่มี 3 อย่าง คือ เนื้อปลากระเบนผัดหวาน ลูกกะปิ และไชโป๊วผัดหวาน ทานกับข้าวแช่เข้ากันได้เป็นอย่างดี ให้ความสดชื่นขึ้นมาทันที่ นักท่องเที่ยวผ่านตรอกนี้ต้องแวะทานให้คลายร้อนกันหน่อย

                ร้านนายแดง ก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำแดง

      ทาน ข้าวแช่ แม่อร รองท้องมาหน่อยแล้วมาเจอ ร้านนายแดง ก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำแดง ตั้งอยู่ในตลาดริมน้ำเพชร หิวขึ้นมาทันทีเลยครับ เพราะน้ำซุปส่งกลิ่นหอมมาแตะจมูก ก่อนเดินมาถึงร้านเสียอีก เมนูมีทั้ง เส้นเล็ก เส้นใหญ่ บะหมี่ หมูหมัก หมูตุ๋น ลูกชิ้นหมู น้ำแห้ง เกาเหลาข้าวเปล่า มีครบให้เลือกสั่งตามต้องการ

       สูตรลับความอร่อยอยู่ที่ เลือกใช้เนื้อหมูใหม่สดทุกวัน สั่งจากเจ้าประจำที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง เครื่องปรุงน้ำชุปไม่ใช้ยาจีนสำเร็จ แต่ซื้อเครื่องเทศเป็นอย่างๆมาผสมกันเป็นสูตรของตนเอง สูตรต่างๆที่ใช้ต้องผ่านการตวงทุกครั้ง รสชาติจึงอร่อยเหมือนเดิมตั้งแต่เปิดร้านมา และที่เรียกว่าก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง เพราะว่าต้องใส่ซอสพริกสีแดงลงไปด้วยเพื่อความเข้มข้นของน้ำซุป แล้วแต่คนชอบจะใส่ก็ได้ไม่ใส่ก็ได้ เพราะน้ำชุปในก๋วยเตี๋ยวก็เข้มข้นอยู่แล้ว สำหรับผมไม่ใส่ซอสแดงก็โอเคแล้ว และรับรองความอร่อยด้วยสั่งเพิ่มอีก 1 ชาม ถึงจะสะใจ

                  วัดเกาะแก้วสุทธาราม วัดเก่าสมัยอยุธยา

         มาถึงชุมชนที่ 3 ชุมชนนี้มี วัดเกาะแก้วสุทธาราม เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน อยู่ห่างกับชุมชนริมน้ำเพชรพอสมควร ต้องนั่งรถรางของชุมชนไปถ้าเดินก็คงเหนื่อยเอาการ วัดเกาะแก้วสุทธาราม เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ฐานพระอุโบสถตกท้องสำเภาบ่งบอกถึงความเป็นศิลปสกุลช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นวัดหลวงเพราะมีเสมาคู่ทำจากหินทรายสีแดง ตั้งอยู่โดยรอบเขตพัทธสีมา หลังคาพระอุโบสถทรงจั่วซ้อนกัน 2 ชั้น มีประตูเข้าออกตัวโบสถ์ 4 ประตู ซุ้มประตูตกแต่งลายปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชรอ่อนช้อยสวยงาม

           ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ แกะสลักด้วยไม้ ลงรักปิดทองเหลืองอร่ามทั้งองค์ มีภาพเขียนสีฝุ่นเล่าเรื่องราวพุทธประวัติทั้ง 4 ด้าน ภาพเขียนด้านหน้าตรงข้ามพระประธาน เป็นภาพจักรวาลมีรูปเขาพระสุเมรุ แวดล้อมไปด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ มีวิมานอยู่บนเขาทั้ง 7  ยอด ด้านหลังเป็นภาพพระพุทธประวัติตอนมารผจญ มีพระแม่ธรณีบีบมวยผม ให้น้ำล้างเหล่าพวกมารอยู่ด้านล่าง

          ภาพด้านใต้โบสถ์เป็นภาพพุทธประวัติ ณ สถานที่สำคัญ 8 แห่ง เรียกว่า “อัฏฐมหาสถาน” แทรกอยู่ระหว่างภาพเจดีย์ใต้ภาพฉัตร ส่วนผนังด้านทิศเหนือ เป็นภาพแสดงสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับหลังตรัสรู้แล้ว 7 แห่ง เรียกว่า “สัตตมหาสถาน” แทรกอยู่ระหว่างภาพเจดีย์ใต้ภาพฉัตรเช่นเดียวกัน

               ขนมอาลัว บ้านครูปราณี

        นั่งรถรางออกจากวัดเกาะมาแวะชิมขนมอาลัว บ้านครูปราณี เป็นร้านขนมไทยที่อยู่ในบ้านทรงไทย เก่าแก่อายุนับร้อยปี ทำจากไม้สักทั้งหลัง ครอบครัวคุณแม่ของครูปราณีเดินทางจากเมืองจีน มาสร้างหลักปักฐานอยู่ที่เพชรบุรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทำกิจการค้าข้าว และน้ำตาลโตนด เนื่องจากบ้านอยู่ริมน้ำเพชร

        ปัจจุบันครูปราณีใช้บ้านทรงไทยหลังนี้ เป็นโรงงานทำขนมไทย เริ่มหัดทำขนมอาลัว เมื่อปี พ.ศ. 2534 ตั้งแต่ยังเป็นครูสอนหนังสืออยู่ ทำขนมอาลัวตามขั้นตอนแบบโบราณ กวนแป้งกับน้ำตาลให้เข้ากันก่อน สีต่างๆจะใช้สีจากธรรมชาติ มี 4 สี ขาว เขียว ชมพู เทา หยอดใส่ถาดแล้วนำไปตากแดด โดยไม่ใช้เตาอบ ทำให้ขนมอาลัวหอมอร่อยหวานน้อย ที่นี่ยังมีขนมข้าวตูให้เลือกชิมด้วย

                วัดกำแพงแลง เทวาลัยสมัยขอมเมืองพชรบุรี

       ดวงอาทิตย์ใกล้จะตกดินเต็มที่แล้ว กว่าเราจะมาถึงที่ วัดกำแพงแลง เทวาลัยสมัยขอมเมืองพชรบุรี ตั้งอยู่บนถนนพระทรง เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1700 – 1750 ในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อบูชาพระศิวะตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการบูรณะ และเปลี่ยนเป็นวัดพุทธ

       ที่เรียกว่า วัดกำแพงแลง ก็เพราะยังคงมีกำแพงวัดที่ทำจากศิลาแลง ภายในวัดมีปราสาทอยู่ 5 องค์ มีปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง และมีปรางค์อีก 4 องค์ ล้อมรอบอยู่ทั้ง 4 ทิศ ประดับด้วย องค์พระปรางค์ แกะสลักลวดลายแบบขอม ในปรางค์แต่ละองค์ประดิษฐาน พระอิศวร พระพรหม พระณารายณ์ พระลักษมี และพระขันธกุมาร ซึ่งจากเดิมที่มีอยู่ 5 องค์ ปัจจุบันเหลือปรางค์อยู่เพียง 3 องค์เท่านั้น

                 ขันโตกมื้อเย็น ชุมชนเมืองเก่า ริมแม่น้ำเพชรบุรี

       มืดสนิทเลยกว่าจะได้กลับมาทานอาหารเย็นแบบขันโตกที่ ชุมชนเมืองเก่า ริมแม่น้ำเพชรบุรี เมนูในขันโตกก็มาครบความอร่อยของอาหารเมืองเพชรครับ  เริ่มที่ ขนมจีนทอดมัน เป็นที่ขาดไม่ได้เลยถ้ามาเมืองเพชรแล้วต้องทานครับ ถ้าให้ดีต้องทานตอนเช้าครับเพราะคนเมืองเพชรเขาทาน ขนมจีนทอดมัน เป็นอาหารเช้า ต่อมาเป็น ข้าวพัดแดง เป็นเมนูที่หาทานไม่ได้จากที่ไหนนอกจากที่เมืองเพชรเท่านั้น คล้ายกับข้าวคลุกกะปิแต่ไม่ใช่ ใช้ซอสแดงผัดกับข้าว มีไก่หวาน กับไข่เส้น เป็นเครื่องเคียง ใช้มะนาวปรุงรสแก้มด้วยแตงกวา

         ทานคู่กับ น้ำพริกแดงกุ้งใบชะคราม เข้ากันได้ดีมา น้ำพริกตำจากเครื่องปรุงสดๆ ไม่ต้องเอาพริกหอมกระเทียมสดไปเผาก่อน เหมือนกับการทำน้ำพริกเผา ได้รสชาติที่หอมใหม่สดกว่า ต้มข่าไก่ใบกระวาน เป็นเมนูต้มอย่างเดียวบนขันโตก ซดน้ำ ต้มข่าไก่ใบกระวาน คล่องคอดี เพิ่มความชุ่มชื่นกับมื้อนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะกระวานให้รสชุ่มซ่าอยู่แล้ว ตบท้ายด้วยของหวาน ขนมหม้อแกงเมืองเพชร อิ่มอร่อยกับอาหารในขันโตรกแล้ว แต่ก็ต้องแบ่งท้องไว้ให้กับ ของหวานขนมหม้อแกงเมืองเพชร มาเมืองเพชรแล้วไม่ได้ทานมันเหมือนว่าขาดอะไรไปอย่าง

      ระหว่างทานอาหารไปก็มีละครชาตรี แสดงโดยคนในชุมชน ที่มีความต้องที่จะอนุรักษ์ละครชาตรีไม่ให้หายไปจากเมืองเพชร ให้ชมด้วย ปิดท้ายทริปนี้ด้วยอาหารอร่อยแล้วอิ่มใจจากการชมละคอนชาตรี ก่อนกลับไปเข้านอนหลับฝันดี ยังไม่จบสำหรับ Delicious Destination @ Phetchabur มีให้ติดตามกันอีก 1 EP. ครับ