THEWAYNEWS > Travel > In bound > EP. ร่อนแร่หาพลอยแดง เพชรน้ำเอกเมืองตราด บ้านช้างทูน  Delicious Destination @ Trat 

          EP. ร่อนแร่หาพลอยแดง เพชรน้ำเอกเมืองตราด บ้านช้างทูน  Delicious Destination @ Trat

                   เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา

                  เรือนไม้ย่านการค้าเก่า 2 ฝั่งถนน ชุมชนรักษ์คลองบางพระ

       ชุมชนรักษ์คลองบางพระ หรือ ชุมชนคลองบางพระ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตราด สมัยรัชกาลที่ 1 คนไทยต่างถิ่น และคนจีนอพยพ เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนในพื้นที่คลองบางพระ ตั้งบ้านเรือนอยู่ 2 ฝั่งถนนเลียบริมคลอง ชุมชนจึงมีลักษณะหันหลังให้คลองบางพระ กลายเป็นย่านขนส่งสินค้าที่สำคัญของจังหวัดตราด มีเรือสำเภานำสินค้าจากเมืองจีน เสื้อผ้า ถ้วยชาม เครื่องกระเบื้อง เข้ามาติดต่อค้าขายกับคนในชุมชน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ชุมชนถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ อาคารบ้านไม้ที่อยู่ริมคลองถูกไฟไหม้ไปเป็นจำนวนมาก

         วันที่ 3 ของทริป Delicious Destination @ Trat เรามาเริ่มกันที่ชุมชนคลองบางพระ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม (ชุมชนรักษ์คลองบางพระ) ให้การต้อนรับคณะของเรา หลังจากฟังการประว้ติความเป็นมาของชุมชนแล้ว มีการสาธิตวิธีการทำขนมข้าวเกรียบอ่อนให้เราชมและชิมกัน ก็คล้ายกับข้าวเกรียบปากหม้อแต่ไม่มีไส้ แต่มีน้ำจิ้มราดด้วย แป้งบางนุ่มกำลังดี ได้ 3 รส จากน้ำราด หวานนำจากน้ำเชื่อม ตามด้วยปรี้ยวจากมะนาว ตัดด้วยเค็มนิดหน่อยจากน้ำปลา ไฮไลท์อยู่ตรงที่เขาใส่กุ้งแห้งตำเข้าไปด้วย เพิ่มความกลมกล่อมเข้าอีก อร่อยกำลังดี หาทานได้ที่ ชุมชนรักษ์คลองบางพระ เท่านั้น

       คนในชุมชนรวมตัวกันก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรม (ชุมชนรักษ์คลองบางพระ) ปัจจุบันริมคลองบางพระยังมีเรือนไม้เก่าๆหลงเหลืออยู่พอสมควร ที่เคยเป็นร้านค้าในอดีตก็กลับมาเปิดร้านค้าขายใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสบรรยากาศย้อนกลับไปในอดีต เดินดูบ้านไม้เรือนแถวเก่าๆ ชมท่าเทียบเรือที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาประทับ ถ่ายรูปเช็คอินกับภาพเขียนฝาผนัง ชิมอาหารเมนูเด็ด เลือกซื้อสินค้าของฝากของคนในชุมชน อยากจะเรียนรู้ชุมชนให้มากกว่านี้ ก็มีโฮมสเตย์ราคาถูกให้เลือกพักมากมาย ถนนคนเดินของชุมชนจะเปิดตอนเย็นเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น

             ข้าวห่อกาบหมาก ความคิดต่อยอด ชุมชนบ้านห้วยแร้ง

        ก่อนที่จะเดินทางไปบ้านช้างทูนคณะของเรามาแวะที่ ชุมชนบ้านห้วยแร้ง กันก่อนครับ ชุมชนบ้านห้วยแร้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมือง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่คนชอง อพยพเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม ป่าอุดมพันธุ์ไม้หลายชนิด สัตว์ป่าก็ชุกชุม จึงมีฝูงแร้งมาอยู่อาศัยหากินซากสัตว์ เป็นที่มาของชื่อตำบลห้วยแร้ง ในชุมชนมีลำห้วยไหลผ่าน ผืนดินจึงอุดมสมบรูณ์ ชาวไร่จึงหันมาปลูกสับปะรดตราดสีทองกันเป็นจำนวนมาก

          Welcome drink ของชุมชนเป็นน้ำอัญชันผสม สับปะรดตราดสีทอง ทานคู่กับขนมปังทาด้วยน้ำพริกเผาสับปะรด ได้รสแปลกไปอีกแบบ น้ำพริกเผาออกหวานหน่อยแต่หอมกลิ่นสับปะรดด้วย มาถึงบ้านห้วยไร่แล้วต้องชิมสับปะรดตราดสีทองด้วยครับ กรอบหวานออกเปรี้ยวนิดหน่อย อร่อยกำลังดี ฟังเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนบ้านห้วยแร้งเสร็จ มีการสาธิตทำขนมจาก แกงป่าปลา ให้เราได้ชิมกัน

        ส่วนที่เป็นเมนูยอดนิยมของบ้านห้วยแร้งก็คือ ข้าวห่อกาบหมาก เป็นอาหารที่ทำกินกันในชุมชนมาตั้งแต่ก่อนเก่า เข้าป่าไปล่าสัตว์หาของป่าเมื่อใด ก็ต้องพก ข้าวห่อกาบหมาก ติดตัวไปทุกครั้ง เพื่อเอาไปทานเป็นอาหารกลางวันกลางป่า ต่อมาชุมชนได้มีการต่อยอด นำข้าวน้ำพริกลงเรือที่มีสับปะรดตราดสีทองเป็นวัตถุดิบ ทำเป็นข้าวห่อกาบหมาก เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้นักท่องเที่ยว ในการรับทานข้าวห่อกาบหมากของชุมชน นักท่องเที่ยวที่มาเยือนต้องห้ามพลาด ข้าวห่อกาบหมากที่บ้านห้วยแร้งเป็นอันขาด

          คนในชุมชนรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยแร้ง เพื่อทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในตำบลห้วยแร้ง นำสับปะรดตราดสีทองมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนออกขาย น้ำพริกเผาสับปะรด ซอสน้ำพริกเผาพัดเส้น ให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน

             ร่อนแห่หาพลอยแดง เพชรน้ำเอกเมืองตราด ชุมชนบ้านช้างทูน

         ชุมชนบ้านช้างทูนตั้งอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ เป็นชุมชนที่มีชาวซองคนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่มาเก่าก่อน คนส่วนใหญ่ทำสวน ทำไร่ อยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยการรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ด้วยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด ทำอาหารคาวหวานจากวุ้นหมาน้อย เอาหยวกกล้วยมาแกง ในชุมชนมีนิเวศพิพิธภัณฑ์ ทำสปาสมุนไพรสุ่มไก่ สาธิตการร่อนแร่เพื่อเล่าเรื่องราวของการขุดทำเหมืองพลอยแดงในอดีต บริหารจัดการโดยชุมชน เปิดบริการให้ผู้ที่สนใจ และนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชุมชนคนบ้านช้างทูน

             พิพิธภัณฑ์เมืองอัญมนี

        พิพิธภัณฑ์เมืองอัญมนีตั้งอยู่ที่ ตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อไร่ เปิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2556 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของการขุดหา พลอยแดงอัญมณีล้ำค่า เพชรน้ำเอกของเมืองตราด เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมสีชมพู หลังคารูปโดมสีฟ้าตั้งอยู่ 2 อาคารคู่กัน ตัวอาคารตั้งอยู่หน้าบึงน้ำพื้นที่เหมืองพลอยเก่า ยังมีเครื่องจักรเก่าร่องรอยของการทำเหมืองตั้งทิ้งไว้ให้เห็นอยู่ข้างอาคาร บริเวณนี้อดีตเคยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลอยแหล่งใหญ่ของเมืองตราด

        อาคารหลังที่ 1 ภายในจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของคนงานทำเหมืองพลอยขณะทำงาน แสดงให้เห็นถึงกระบวนการทุกขั้นตอนของการทำเหมืองพลอย ตั้งแต่การขุดพลอย ร่อนพลอย อาคาร 2 จัดแสดงการ หุงพลอย เจียรไนพลอย และซื้อขายพลอย

        และมีจุดให้นักท่องเที่ยวได้เช็คอินถ่ายรูป ด้วยการทดลองเป็นนักค้าพลอย นั่งส่องพลอยก่อนตัดสินใจซื้อขายพลอย บางคนมานั่งเช็คอินถ่ายรูปก็เหมือนเสียจริงๆ นึกว่าเป็นคนมาซื้อพลอยในสมัยนั้นด้วย ตรงทางออกมีร้านขายเครื่องประดับที่ทำจากพลอย ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกฝากคนทางบ้านด้วย

                   แหล่งเรียนรู้นิเวศพิพิธภัณฑ์ บ้านช้างทูน

         ออกจาก พิพิธภัณฑ์เมืองอัญมนี ก็มาที่  แหล่งเรียนรู้นิเวศพิพิธภัณฑ์ บ้านช้างทูน ตั้งอยู่ที่ บ้านช้างทูน อำเภอบ่อไร่ ขับรถต่อจาก พิพิธภัณฑ์เมืองอัญมนี มาได้เลยไม่ไกลกันมากนัก เป็นแหล่งเรียนรู้ที่นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการกินอยู่อาศัย รักษาสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                    สาธิตการทำ วุ้นหมาน้อย

         มาที่บ้านช้างทูนจะได้ชมการสาธิตการทำ วุ้นหมาน้อย คนท้องถิ่นเอาใบเครือหมาน้อย พืชในตระกูลเถาวัลย์ นำมาคั้นเอาแต่น้ำ แล้วตั้งทิ้งไว้ 1 นาที จะกลายเป็นวุ้น นำมาทำเป็นอาหารได้ทั้งอาหารคาว ยำวุ้นหมาน้อย และอาหารหวาน Bingsu วุ้นหมาน้อยใส่น้ำเขียวหรือน้ำแดงก็ได้ วุ้นหมาน้อยมีสรรพคุณทางยาให้ฤทธิ์เย็น แก้ร้อนใน ถอนพิษไข้

      จากนั้นไปดูการสาธิตการร่อนแร่ของคนบ้านช้างทูน เมื่อ 50 ปีก่อนถือว่าเป็นยุคตื่นพลอยของคนเมืองตราด และนักร่อนแร่จากทั่วประเทศ ต่างมุ่งหน้าตรงมาที่อำเภอบ่อพลอย เพื่อเสี่ยงโชคในการร่อนแร่หา พลอยแดงพชรน้ำเอกของเมืองตราด ขอให้ได้พลอยแดงน้ำงามๆ เม็ดใหญ่ๆ สัก 1 เม็ด ก็จะกลายเป็นคนมีฐานะขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืน

                ลงร่อนแร่หาพลอยแดง เพชรน้ำเอกเมืองตราด

         นักท่องเที่ยวที่อยากเสี่ยงโชค เหมือนคนในยุคตื่นพลอยแดงของคนเมืองตราด ก็ลงไปร่อนแร่หาพลอยแดงที่ลำห้วยข้างศูนย์กันได้ อดีตนักร่อนแร่มือต้นๆของบ้านช้างทูน จะสาธิตวิธีการร่อนแร่ให้ดูกันก่อน ดูแล้วก็ลงมือร่อนได้เลย รับรองไม่ผิดหวัง ทุกคนจะได้พลอยแดงติดมือกับบ้านกันไปทุกคน แสดงถึงการมีอยู่จริงของสายแร่ พลอยแดง ที่คนอดีตมุ่งหน้ามาหาอนาคตจากสินแร่ใต้พื้นดินแหล่งนี้

                 ข้าวเหนียวมูล แกงไก่กล้วยพระ เมนูเด็ดบ้านช้างทูน

         มื้อกลางวันที่บ้านช้างทูน เป็นเมนูพื้นแบบบ้านๆง่ายๆของคนท้องถิ่น ไข่เจียว น้ำพริกกะทิผักสด ผักกูดพัดน้ำมันหอย ต้มยำกระดูกหมู ปีกไก่ชุบแป้งทอด และเมนูเด็ดของที่นี่ก็คือ ข้าวเหนียวมูล แกงไก่กล้วยพระ จะใช้หยวกกล้วยนำมาแกง กล้วยพระเป็นกล้วยที่ไม่มีหน่อขยายพันธ์ุด้วยเมล็ด ที่เรียกว่ากล้วยพระก็เพราะว่าเวลาจะตัดต้นกล้วยเอาหยวกมาแกง ต้องไปตัดตั้งแต่เช้าก่อนพระออกบิณฑบาต จะได้ต้นกล้วยที่ยังชุ่มน้ำเนื้อจะนิ่ม แกงกล้วยพระจะใช้หยวกกล้วยอ่อนนำมาแกง

 

       ข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วเอามามูลกับหัวกะทิ เพื่อความมันหวานหอมเข้าไปในข้าวเหนียว ทานคู่กับแกงไก่กล้วยพระเข้ากันได้ดี เป็นภูมิปัญญาด้านอาหารของคนซอง แกงกล้วยพระหยวกกล้วยจะตัดมันแก้เลี่ยน มีเส้นใยเยอะทำให้มี Fiber สูงแก้ท้องผูกได้ดี มาบ้านช้างทูนต้องลอง ข้าวเหนียวมูลทานแกงไก่กล้วยพระ ให้ได้นะครับ

        นิเวศพิพิธภัณฑ์ชองบ้านช้างทูน ยังเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว (Otop Village) เป็นแหล่งท่องเที่ยวอนุรักษ์ธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชนชาวชอง มีเส้นทางท่องเที่ยวให้เลือกหลายแบบ นอกจากร่อนแร่หาพลอยแดงแล้ว ยังไปทำสปาสมุนไพรสุ่มไก่ นวดคลายเส้น ชมโรงงานกลั่นน้ำมันกฤษณา ถ้ายังไม่อิ่มเอมกับการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ที่บ้านช้างทูนก็มีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวนอนพักค้างคืนได้ 

 

                จิบกาแฟในสวน ผลอำไพ

      สวนผลไม้อำไพ อยู่ที่ตำบลทุ่งนนทรี อำเภอเขาสมิง เป็นสวนขนาดเล็กกระทัดรัดบนเนื้อที่ 26 ไร่ ภายในสวนปลูกผลไม้ มังคุด ลองกอง ทุเรียน พืชผักสวนครัว พริก ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว ล้วนเป็น พืชผักผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด

          แปรรูปผลไม้เพื่อต่อยอด และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียนอบแห้ง สับปะรดอบแห้ง กล้วยอบแห้ง เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกด้วย นอกจากนี้ยังแปรรูปพืชผักสวนครัวสวนให้เป็นน้ำพริกแกงป่าอบแห้ง และแกงส้มสับปะรดกุ้ง สวนผลอำไพ ได้แปรรูปมังคุด แบบครบวงจร จนได้รับคัดเลือกให้เป็น Smart Farmer ของจังหวัดตราด

         วันนี้เราไปกันมาหลายที่แล้วเลยมาแวะ จิบกาแฟในสวน ผลอำไพ เสียหน่อย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ Check In TRAT ที่สวนผลอำไพทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เขามาเยี่ยมชมสวนแล้วอยากดื่มกาแฟในสวน และปิดช่องว่างทางการตลาดของทางสวนด้วย

      บรรยากาศภายในร้านก็มีให้เลือก 2 แบบ จะนั่งจิบกาแฟในห้องแอร์เย็นฉ่ำภายในร้าน ก็โซฟานิ่มๆให้เลือกนั่งตามสบาย หรือจะ จิบกาแฟในสวน ผลอำไพ แบบ Outdoor ก็จะได้บรรยากาศที่ร่มรื่นท่ามกลางแมกไม้นานาพันธ์ุ

        ใช้เม็ดกาแฟที่เป็นพันธ์ุพื้นเมืองที่ปลูกในจังหวัดตราดเท่านั้น จึงให้รสกาแฟเข้มข้นเหมือนกันทุกแก้ว เมนูก็มีให้เลือกหลาหหลาย กาแฟสดร้อนเย็น ช็อคโกแลตโกโก้ร้อนเย็น ชามะนาว ชาเขียว และอาหารจานเดียว ก็มีให้เลือกดื่มกินครบ

                แวะซื้อสละที่ สวนสมโภชน์

       สวนสละสมโภชน์ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองตราดประมาณ 5 กิโลเมตร  ปลูกสละพันธุ์สุมาลีมากว่า 30 ปี ด้วยความดูแลเอาใจใส่ของคุณลุงกระจ่าง และคุณป้าสมโภชน์ เจ้าของสวนเป็นอย่างดี จึงได้ผลผลิตที่ดี สละผลใหญ่ เนื้อแน่น เปลือกบาง รสหวานอมเปรี้ยวนิดหน่อย หอมกลิ่นสละชัดเจน

        ปิดทริปนี้ด้วยการมาซื้อสละที่สวนสมโภชน์ เป็นของฝากก่อนกลับบ้าน คณะของเราได้การต้อนรับด้วยน้ำสละปั่น หวานอมเปรี้ยวเย็นชื่นใจ คุณลุงกระจ่าง ก็มาค่อยคณะของเรา เล่าเรื่องราวของสวนสละให้เราฟัง

        “สละเป็นผลไม้ที่ออกผลได้ตลอดทั้งปี แต่ต้องไปรับการดูแลเป็นอย่างดี สวนต้องโล่งโปร่งปราศจากวัชพืช ผมต้องผสมพันธ์ุติดเกสรให้ต้นสละด้วยตนเองทุกต้น ถ้าปล่อยให้ต้นสละผสมเกสรตามธรรมชาติ คงจะไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร เนื่องจากผึ้งที่ช่วยผสมเกสรนั้นมีน้อยในธรรมชาติ หลังจากนั้น 9 เดือน จึงเก็บผลผลิตได้ เก็บมาแล้วก็ต้องเอามาล้างน้ำ แล้วเอาใส่เข่งผึ่งลมให้แห้ง ก่อนแพคใส่กล่องส่งลูกค้าตามออเดอร์ที่สั่งเข้ามาทุกวัน”

        นอกจากมาซื้อสละกลับบ้านแล้วที่สวนสมโภชน์ยังมีจุดเช็คอินถ่ายรูป ถ่ายแบบ ถ่าย portrait อยู่หลายจุดเหมือนกัน

       จบลงไปแล้วทั้ง 3 EP. นั่งเรือไปงมหอยเอามาแกง วิถีชุมชนบ้านไม้รูด จิบกาแฟแลเล มหัศจรรย์ป่าชายเลน บ้านท่าระแนะ ร่อนแร่หาพลอยแดง เพชรน้ำเอกเมืองตราด บ้านช้างทูน สำหรับ Delicious Destination @ Trat เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีอาหารท้องถิ่นอร่อยๆหาทานได้เฉพาะในชุมชนนั้นๆ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว กระจายรายได้ลงสู่ชุมชน หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับนักเดินทางท่องเที่ยวได้บางนะครับ